นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง สำรวจฐานสนับสนุนของสาธารณชนต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เมื่อกลุ่มพลังเงียบเริ่มตัดสินใจเลือกข้าง โดยผลสำรวจฐานสนับสนุนของสาธารณชนที่มีต่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีโดยภาพรวมทั่วประเทศนั้น พบว่าร้อยละ 52.0 ระบุสนับสนุน ร้อยละ 40.6 ไม่สนับสนุน ในขณะที่ร้อยละ 7.4 ระบุขออยู่ตรงกลาง
สำหรับแนวโน้มความนิยมของสาธารณชนที่มีต่อนายสมัคร สุนทรเวช พบว่าแนวโน้มการสนับสนุนสูงขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 48.5 ในช่วงเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ร้อยละ 52.0 ในการสำรวจล่าสุด โดยพบว่าฐานสนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช จากสาธารณชนทั่วประเทศโดยภาพรวมยังคงมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่สนับสนุน คือ ร้อยละ 52.0 สนับสนุน ในขณะที่ร้อยละ 40.6 ไม่สนับสนุน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสัดส่วนของพลังเงียบนั้นพบว่า มีแนวโน้มลดลงเรื่อยมานับตั้งแต่การสำรวจในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2551 ที่มีกลุ่มพลังเงียบอยู่ร้อยละ 22.4 ต้นเดือนมิถุนายนมีอยู่ร้อยละ 19.1 และลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.4 จากการสำรวจในครั้งล่าสุดนี้
ในขณะที่เมื่อพิจารณาจำแนกตามภูมิภาคนั้นพบว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้การสนับสนุนนายสมัคร สุนทรเวช มากกว่าภาคอื่น ๆ โดยมีผู้ที่ให้การสนับสนุนคิดเป็นร้อยละ 72.0 ในขณะที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ให้การสนับสนุนต่ำกว่าพื้นที่อื่น ๆ โดยคิดเป็นร้อยละ 26.1 และในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ร้อยละ 50.4 ระบุยังสนับสนุนนายสมัคร สุนทรเวช
นายนพดล กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้อยู่ในช่วงเวลาที่มีการเคลื่อนที่ชุมชนของกลุ่มพันธมิตรไปหน้าทำเนียบรัฐบาลและการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งสถานการณ์การเมืองดูเหมือนจะผลักดันให้กลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือพลังเงียบเริ่มตัดสินใจเลือกข้างในการสำรวจล่าสุด ที่น่าพิจารณาคือ สัดส่วนของกลุ่มพลังเงียบลดลงแต่กระจายไปเพิ่มที่กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มสนับสนุนรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลมีกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นทุนเดิมมากกว่า จึงทำให้ฐานสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเพิ่มขึ้นยกระดับไปสู่เกรด B หรือในโซนที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นโซนที่มีนับสำคัญว่า รัฐบาลจะสามารถทำงานโดยได้รับการตอบรับจากสาธารณชนได้ค่อนข้างดี แต่จะพบกับแรงเสียดทานหนัก ๆ บ้างเป็นระยะ ๆ รัฐบาลจึงต้องลดการพูดจาท้าทาย ยั่วยุลงบ้าง และถ้ามุ่งหวังได้เกรด A หรือในโซนที่ 4 ต้องมาการปรับปรุงภาพลักษณ์ของคณะรัฐมนตรีตอบสนองความคาดหวังและแก้ปัญหาเดือดร้อนของสาธารณชนโดยเร็ว เพราะกลุ่มประชาชนที่ไม่สนับสนุนก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
ผลสำรวจดังกล่าว เป็นการสำรวจกรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ สุโขทัย ขอนแก่น สกลนคร นครราชสีมา ศรีสะเกษ ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ จำนวนทั้งสิ้น 5,453 ตัวอย่าง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-29 มิถุนายน พ.ศ. 2551
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี โทร.0-2253-5050 ต่อ 322 อีเมล์: nisarat@infoquest.co.th--