ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หลังจากที่ฝ่ายจำเลย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ยื่นคำร้องโต้แย้งว่าบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวที่ฝ่ายโจทก์ยกเป็นประเด็นในข้อกล่าวหาในคดีทุจริตซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
"ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต มาตรการ 4 มาตรา 100 และ มาตรา 122 ขัดหรือแย้ง"นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าของสำนวนคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ กล่าวในโอกาสที่ศาลฎีกาฯ นัดพร้อมคดีที่ดินรัชดาฯในวันนี้
ส่วนกระบวนการไต่สวนที่กำหนดไว้ ศาลจะดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ที่กำหนดว่าให้กระบวนการไต่สวนไปตามปกติ และให้รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนจะมีคำพิพากษา ซึ่งศาลจะพิจารณาคดีภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยเริ่มไต่สวนพยานโจทก์ปากแรกในวันที่ 8 ก.ค.นี้ ในกรณีที่มีพยานคนใดไม่สามารถเดินทางมายังศาลได้ ก็ให้คู่กรณีนำพยานคนอื่นเข้ามาสืบแทน
ด้านนายเอนก คำชุ่ม ทนายความฝ่ายจำเลย กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลคดีต่อจากนายพิชิต ชื่นบาน ทนายคนเดิมที่ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลกรณีสินบน 2 ล้านบาท
สำหรับการที่ศาลฯ ส่งตีความ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นไปตามคำร้องของฝ่ายจำเลยที่ระบุในการโต้แย้งว่า บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่มาตรา 1-133 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีเพียง 3 มาตราเท่านั้นที่อาจเข้าข่าย จึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ขณะที่การยื่นคำร้องโต้แย้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ซึ่งเป็นไต่สวนกรณีทุจริตในคดีดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาฯ เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยมาแล้ว ก็จะวินิจฉัยไปตามนั้น จึงได้ยกคำร้องของจำเลยไป
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--