จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซสร้างภาวะเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกนั้น มีท่าทีที่จะปฏิเสธในการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายในระยะยาวในการแก้ปัญหาโลกร้อนในการประชุมนอกรอบการประชุมสุดยอด G-8 ที่ญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวเมื่อวานนี้ว่า ตนเองหวังว่า เป้าหมายระยะยาวในการแก้ปัญหาโลกร้อนจะถูกนำมาพูดคุยในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ และถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับจีนและอินเดีย ในฐานะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ทรงอิทธิพลจะมีเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดข้อตกลงในอนาคตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ในขณะที่ซู เหว่ย โฆษกรัฐบาลจีน กล่าวว่า การประชุมที่ว่างเปล่าเกี่ยวกับเรื่องเป้าหมายระยะยาวไม่ได้ช่วยให้ประเทศต่างๆแก้ปัญหาโลกร้อนได้ และเป้าหมายในระยะกลางและระยะใกล้นี้น่าจะช่วยได้มากกว่า โดยจุดยืนของจีนนั้นมองว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นต้นตอปัญหาโลกร้อน เพราะประเทศเหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นเวลาหลายสิบปี ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วจึงสมควรที่จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการแก้ปัญหา
โฆษกรัฐบาลจีนกล่าวว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และต้องการความช่วยเหลือจากประเทศที่ร่ำรวยกว่าในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาไม่ใช่การกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่เลิศเลอ แต่เป็นการให้ความสำคัญกับการดำเนินการในระยะกลางและระยะสั้น โดยในระยะกลาง ประเทศที่พัฒนาแล้วควรจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 25-40% ภายในปี 2563 สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--