นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ระบุกระบวนการพิจารณาถอดถอนรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งของ ป.ป.ช.จะต้องพฤติกรรมจงใจที่จะใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยไม่ได้ยึดเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว
"มันเป็นเรื่องของพฤติกรรม ต้องดูสภาพแวดล้อม ไม่ใช่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแค่นั้นแล้วจะไปว่าว่าเขาจงใจ เราเคยวินิจฉัยในกรณีของอดีตรัฐมนตรีบางคน เราต้องดูว่าเขามีคำตอบให้ไหมในกรณีที่วินิจฉัยอย่างนั้น ต้องดูเป็นราย ไม่ใช่เหมายกเข่ง" นายวิชา กล่าวในรายการวิทยุเช้านี้
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ถือเป็นสนธิสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทางกลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ก็จะระบุว่าจะดำเนินกระบวนการทางรัฐสภาเพื่อยื่นถอดถอนนายนพดล ปัทมะ ออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ
นายวิชา กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูยกกำหนดแนวทางการยื่นถอดถอน จะต้องมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา หลังจากนั้นประธานวุฒิสภาต้องตรวจสอบก่อนว่ามีการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามีพฤติกรรมจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงจะส่งเรื่องต่อไปให้ ป.ป.ช.เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน และหลังจากวินิจฉัยลงมติแล้วจะรายงานผลกลับมาที่ประธานวุฒิสภา
หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดแล้ว ผู้ที่ถูกยื่นถอดถอนจะต้องยุติการปฎิบัติหน้าที่ และ ที่ประชุม ส.ว.ก็จะต้องใช้วิธีลงคะแนนลับเพื่อถอดถอน โดยต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 และมติของที่ประชุม ส.ว.จะถือเป็นที่สิ้นสุด
นายวิชา ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่าเป็นข้อต่อสู้ที่พอจะรับฟังได้หรือไม่ หากนายนพดลยกข้ออ้างที่ว่าก่อนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวได้สอบถามข้อกฎหมายจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแล้วว่าไม่ใช่การลงนามในหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ดังนั้นจึงนำเรื่องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
"คงพูดไม่ได้ เพราะเหมือนถามศาลว่าจะตัดสินอย่างไร ในฐานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ต้องพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน" นายวิชา กล่าว
ส่วนการจะดำเนินคดีอาญากับผู้ที่ถูกยื่นคำร้องหรือไม่นั้น นายวิชา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคำร้องที่ยื่นมาว่าการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นได้สร้างความเสียหายในทางอาญาหรือไม่
"กรณีการเมืองจะเข้าทางอาญาหรือไม่ ต้องดูเจตนาทางอาญา มันจะแยกจากกัน เจตนาทางอาญาต้องประกอบไปด้วย เจตนาทุจริตตามมาตรา 157 แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่อย่างไร ต้องเข้าไปลึกอีก...เราต้องดูพฤติกรรมด้วย เพราะกฎหมายบอกว่า ถ้าเป็นเรื่องพฤติกรรมในทางอาญาก็ต้องส่งต่อ(ไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง)" นายวิชา ระบุ
ขณะที่ นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่า การยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไม่สามารถมาร้องกับ ป.ป.ช.ได้โดยตรง แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการรัฐสภา และหาก ป.ป.ช.รับเรื่องไว้ไต่สวนจะแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือคณะรัฐมนตรีทราบเป็นรายบุคคล เพื่อให้เข้าชี้แจงเพิ่มเติม หาก ป.ป.ช.ไต่สวนพบว่าข้อกล่าวหามีมูล ครม.ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ในทันที จากนั้น ป.ป.ช.จะส่งเรื่องไปยังประธานวุฒิสภาพิจารณาให้มีการลงมติถอดถอนด้วยเสียง 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด
ส่วนกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลานานหรือไม่นั้น โฆษก ป.ป.ช.กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะมีผู้ถูกกล่าวหากี่คน หากร้อง ครม.ทั้ง 35 คน ป.ป.ช.ก็ต้องให้มีการชี้แจงด้วยพยานหลักฐานและพยานบุคคล อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่า ป.ป.ช.จะดำเนินการเรื่องนี้ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--