สก็อต มาร์เซียล เจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐประจำอาเซียนกล่าวในที่ประชุมนักวิชาการซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมนานาชาติวูดโรว์ วิลสัน ในกรุงวอชิงตัน ว่า ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องที่ "น่ากังวลใจอย่างยิ่ง" แต่มองว่าสหรัฐไม่ควรเข้าไปมีบทบาทในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ภาคใต้ในขณะนี้
ประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกสังหารกว่า 3,300 คนนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบโดยฝีมือของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนในเดือนม.ค.ปี 2547 ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนของสหรัฐระบุว่า การฆ่าตัดหัว เผาทั้งเป็น และการทรมานประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้กลายเป็นสถานการณ์ปกติในพื้นที่ภาคใต้ไปแล้ว
"สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และผมรู้ดีว่าเรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน แม้รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีพยายามสร้างยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวก็ตาม"
"สถานการณ์เริ่มดีขึ้นก็จริง แต่ก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก ยังคงมีเหตุการณ์รุนแรงอยู่ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก และเชื่อว่ารัฐบาลไทยก็มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน" นายมาร์เซียลกล่าว
มาร์เซียลยังกล่าวด้วยว่า ทางการไทยแทบจะไม่มีความคืบหน้าในการระบุรายชื่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ พร้อมแสดงความเห็นว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกำลังทางทหารเพียงอย่างเดียว โดยระบุว่ารัฐบาลไทยชุดที่แล้วใช้ข้อบังคับด้านกฏหมายและความมั่นคงในการควบคุมวิกฤตการณ์ภาคใต้ ควบคู่ไปกับความพยายามในการเอาชนะใจของประชาชนให้ได้
อย่างไรก็ตาม สหรัฐแสดงท่าทีว่าไม่ต้องการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องี้ โดยนายมาร์เซียลกล่าวว่า "สหรัฐไม่ต้องการเข้าไปมีบทบาทในเรื่องนี้ ผมไม่คิดว่าการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยจะเกิดประโยชน์อันใด และผมก็คิดว่าไทยคงมองว่าสหรัฐไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน"
"หากการเคลื่อนไหวของสหรัฐมีประโยชน์ เราคงทำไปแล้วและเชื่อว่าไทยก็คงร้องขอให้เราช่วย เราพิจารณาแล้วเห็นว่าเราควรจะดูสถานการณ์อยู่ห่างๆ" เขากล่าว
ด้านนายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียของ Human Rights Watch กล่าวว่า "การที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังคงทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์ก็เพราะต้องการแสดงอำนาจและต้องการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย" สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--