จีนและอินเดียเป็นแกนนำของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 5 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดตัวเลขเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G-8 โดยชี้ว่า การควบคุมการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ผู้นำของประเทศต่างๆไม่เห็นด้วยกับเสียงเรียกร้องของที่ประชุมที่ต้องการให้ประเทศต่างๆแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเป้าในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2593 แต่ประเทศเหล่านี้กลับให้การรับรองแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนในแนวทางที่แตกต่างกันไป
กลุ่มพันธมิตรประเทศกำลังพัฒนาทั้ง 5 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดปริมาณการลดการปล่อยก๊าซ ได้แก่ จีน อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ความแตกต่างทางความคิดเห็นของประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกและประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น ได้แก่ วิธีการรับมือกับราคาน้ำมันและอาหารที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
เจมส์ คอนโนตัน ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ประเทศเหล่านี้ต้องการความมั่นใจว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ เราจึงยังไม่สามารถตกลงเป็นเสียงเดียวกันได้
จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 9.3% ส่วนอินเดีย 7.9% กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟระบุว่า ประเทศสมาชิกของกลุ่ม G-5 คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วกว่า 1.3% ในปีนี้
เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมการประชุม G-8 กล่าวว่า หนึ่งในประเทศชั้นนำของกลุ่ม G-5 ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการใดๆที่อาจจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะงัก ในขณะที่ประเทศมีความจำเป็นต้องปรับปรุงด้านการดูแลสุขภาพ มาตรการการดำรงชีพ และบริการสาธารณะต่างๆ ในขณะที่ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ซึ่งได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมได้สนับสนุนแนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ G-8 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--