นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย(ทรท.) ระบุว่า ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 โดยเร็ว เพราะขณะนี้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ทำให้เกิดผลเสียต่อบ้านเมืองอย่างมาก ซึ่งหากไม่แก้ไขก็ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะรอดจากความเสียหายอย่างร้ายแรงได้
"รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนขึ้นมาโดยมุ่งให้มีผลการทำลาย และก็เกิดอย่างนั้นจริงๆ ทำให้ไทยเสียหายบนเวทีโลก เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง เพิ่มเติมปัญหาเศรษฐกิจที่มีผลต่อประชาชนโดยตรง และจะเกิดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว" นายจาตุรนต์ กล่าว
สำหรับความเสียหาย 3 ส่วนที่เห็นได้ชัด ประกอบด้วย ประการแรก เกิดความเสียหายด้านต่างประเทศจากมาตรา 190 ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งมีผลให้ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ไม่สามารถดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศกับประเทศต่างๆได้เลย เพราะไม่สามารถตกลงร่วมมือหรือองค์กรระหว่างประเทศใดๆได้ ทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ที่ควรได้จากเวทีระหว่างประเทศ
ประการต่อมา เรื่องการถอดถอนคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลมาจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการลงนามในแถลงการณ์ร่วมของไทยกับกัมพูชาเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ซึ่งขณะนี้มีคนยื่นถอดถอน ครม.หรือดำเนินคดีกับครม. โดยส่วนที่ยื่นเรื่องถอดถอนผ่านทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นั้น หากป.ป.ช.รับเรื่องก็จะทำให้ ครม.ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่
ประการสุดท้าย เรื่องการยุบพรรคตามมาตรา 237 ทำให้มีแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนว่าเร็วๆ นี้ต้องมีพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 พรรค คือ พรรคชาติไทย, พรรคมัชฌิมาธิปไตย, พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคพลังประชาชน ที่อาจจะถูกยุบ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนและคงไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้
"เรื่องเกิดจากการกระทำที่เชื่อว่าผิดกฎหมายของคนเพียง 4 คน แต่จะทำให้พรรคการเมือง 4 พรรคถูกยุบ ทำให้รัฐบาลนี้ต้องล้มไป เพราะว่าหัวหน้ารัฐบาลและ ครม.ส่วนใหญ่เป็นกรรมการบริหารพรรค นักการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดประมาณ 140-150 คนจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ต้องเลือกตั้งซ่อมอีกหลายเขต ทั้งหมดเกิดขึ้นจากที่เชื่อว่ามีคนกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 4 คน" อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ระบุ
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ผลจากรัฐธรรมนูญใน 3 ส่วนนี้ กำลังทำให้ประเทศเสียหายมากขึ้น ดังนั้นหนทางที่จะหยุดความเสียหายได้ตอนนี้ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 เรื่อง คือ ให้รัฐบาลทำงานได้ในเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศ, ยืนยันหลักนิติธรรมว่าใครทำผิดต้องรับโทษและผู้บริสุทธิ์ไม่ต้องรับโทษจากการกระทำของผู้อื่น, การยุบพรรคควรอาศัยเหตุจากเรื่องนโยบายหรือการกระทำผิดกฎหมายร้ายแรงของคณะกรรมการบริหารไม่ใช่ของบุคคลใดคนหนึ่งเพียงเท่านั้น
องค์กรอิสระต้องเป็นอิสระจริง และองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ควรมีอำนาจกำหนดความเป็นไปทางการเมืองของประเทศเหนือกว่าประชาชนทั้งประเทศ, จัดระบบการตรวจสอบถ่วงดุลใหม่ให้ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยที่ใช้กันในอารยะประเทศ และ สุดท้ายมุ่งไปสู่การมีรัฐบาลและรัฐสภาที่ดีที่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้และสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่โดยรวมก็เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ส่วนการยุบสภานั้น นายจาตุรนต์ มองว่า ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา เพราะเลือกตั้งใหม่ก็ยังต้องยึดกติกาภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 ขณะที่เห็นว่าการปรับคณะรัฐมนตรีน่าจะช่วยการทำงานแก้ไขปัญหาของรัฐบาลดีขึ้น เพียงแต่เกรงว่าจะไม่ทันกับกระบวนการถอดถอนรัฐมนตรี หรือการพักปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีหากคดีเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--