"สมัคร"แจงนายกฯเขมรพื้นที่พิพาทเป็นของไทย/พร้อมแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี

ข่าวการเมือง Saturday July 19, 2008 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มีหนังสือตอบสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยยืนยันพื้นที่พิพาทที่ต้องการให้ไทยถอนกำลังทหารออกไปเป็นดินแดนของไทย พร้อมยืนยันรัฐบาลไทยมีความตั้งใจจะแก้ไขสถานการณ์ในบริเวณพื้นที่ที่ติดปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธีและเป็นธรรม
"นายกรัฐมนตรีไทยยืนยันว่าพื้นที่บริเวณวัดแก้วสิขเรศวรที่กล่าวถึงในหนังสือของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาอยู่ในดินแดนของไทย การที่ได้มีชาวกัมพูชาขึ้นไปสร้างวัด สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งที่อยู่อาศัย กับทั้งมีทหารอยู่ในพื้นที่นั้น ถือว่าได้ละเมิดอธิปไตยและดินแดนของไทย ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลไทยได้ทำการประท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2547, 2548, 2550 และครั้งหลังสุดเมื่อเดือน เม.ย.2551" นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญนายอึงเซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย มาพบเพื่อมอบหนังสือที่นายสมัครได้ตอบกลับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีหนังสือมาถึงฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 17 ก.ค.51
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า นายสมัครได้ยืนยันความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขสถานการณ์ในบริเวณพื้นที่ที่ติดกับปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธีและเป็นธรรม และมอบหมายให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป(General Border Committee:GBC) สมัยพิเศษ ที่ จ.สระแก้ว ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ เพื่อหารือกันอย่างฉันท์มิตรกับฝ่ายกัมพูชาและย้ำว่าทั้งสองประเทศควรใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลุกลาม
"ฝ่ายไทยเห็นว่าเป็นที่กัมพูชาเพิ่มกำลังทหารจาก 200 นาย เป็นกว่า 1,000 นาย ได้ทำให้สถานการณ์เครียดขึ้น นายกรัฐมนตรีไทยจึงเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ และควรเร่งรัดให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(จีบีซี) หารือโดยเร็ว เพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวระหว่างทั้งสองประเทศอันจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นอีก และในระหว่างที่จีบีซีดำเนินการอยู่ฝ่ายไทยพร้อมที่จะเจรจาหารือถึงมาตรการชั่วคราวต่างๆ ที่จะใช้ไปก่อนเพื่อหยุดยั้งปัญหาใดๆ ที่อาจจะมีขึ้น" หนังสือของนายกรัฐมนตรีไทย ระบุ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หลังมอบหนังสือดังกล่าวให้เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยแล้ว กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกเอเชียนประจำประเทศไทยอีก 8 ประเทศมาพบ เพื่อแจ้งท่าทีไทยและมอบสำเนาหนังสือลงวันที่ 17 ก.ค.51 ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่มีมาถึงนายกรัฐมนตรีไทย และหนังสือลงวันที่ 18 ก.ค.51 ของนายกรัฐมนตรีไทยที่ตอบกลับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา พร้อมด้วยแนบเอกสารสำเนาหนังสือประท้วง 4 ฉบับ ตลอดจนบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.43 นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศได้เวียนเอกสารดังกล่าวให้แก่สถานเอกอัครราชทูตประเทศอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย
นายธฤต กล่าวด้วยว่า การประท้วงทั้ง 4 ครั้งของไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจปี 43 ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ ข้อ 5 ระบุว่า ระหว่างที่การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งสองฝ่ายจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ชายแดน
ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้ทำการประท้วงต่อกัมพูชาครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พ.ย.47 กรณีการขยายตัวของชุมชนกัมพูชาซึ่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ชายแดน ก่อปัญหาขยะมูลฝอย และปัญหาน้ำเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนไทยในบริเวณที่อยู่ต่ำกว่ารวมทั้งการก่อสร้างอาคารที่ทำการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 8 มี.ค. 2548 ได้ยื่นหนังสือประท้วงเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของกัมพูชาในการก่อสร้างและปรับปรุงถนนจากบ้านโกมุย อ.จอมกสาน จ.พระวิหาร ถึงปราสาทพระวิหาร และในวันที่ 17 พ.ค.50 ได้ยื่นหนังสือประท้วงคัดค้านเอกสารเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลกของกัมพูชา รวมถึงการออก พ.ร.ฎ.กำหนดเขตอนุรักษ์ปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ซึ่งล้ำดินแดนของไทย
สุดท้ายเมื่อวันที่ 10 เม.ย.51 ได้ยื่นหนังสือประท้วงกรณีละเมิดอธิปไตยและบูรณาภาพแห่งดินแดนของไทย รวมทั้งขอให้ถอนกำลังทหารและตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกันของกัมพูชาและไทยออกทันที แต่กัมพูชาไม่เคยตอบสนองคำประท้วงของไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ