สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อเรื่องสำคัญของประเทศไทย กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 2,447 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-20 กรกฎาคม พบว่า ประชาชนร้อยละ 80 สนใจติดตามข่าวปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร รองลงมาคือ ร้อยละ 75.3 สนใจข่าวเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 66.4 สนใจข่าวเศรษฐกิจ ร้อยละ 61.5 สนใจข่าวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร้อยละ 58.5 สนใจข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 57.1 สนใจข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ยังพบว่า คนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.9 มองว่า ข่าวเศรษฐกิจ เป็นข่าวที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยและคนไทยทุกคน รองลงมาร้อยละ 54.1 ระบุข่าวปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ร้อยละ 50.2 ระบุข่าวความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 42.6 ระบุข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 38.2 ระบุข่าวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และร้อยละ 31.1 ระบุข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี
เอแบคโพลล์ ยังระบุว่า ประชาชนร้อยละ 53.7 พร้อมจะเสียสละเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 44 พร้อมเสียสละ เพื่อช่วยแก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 43.5 พร้อมเสียสละเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 35.5 ระบุเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 33.9 พร้อมเสียสละเพื่อช่วยแก้ปัญหาชายแดนไทย—กัมพูชา
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามความเห็นถึงการวางตัวของคนไทยในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ กลับพบว่าคนไทยไม่ถึงครึ่ง หรือร้อยละ 46.8 ที่ระบุว่า จะเสียสละทุกอย่างเพื่อความมั่นคงของประเทศไทย ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 79.7 ระบุคนไทยควรรักและสามัคคีกันในการแก้ปัญหาของประเทศขณะนี้ ร้อยละ 56.7 ระบุควรเร่งปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนไทยรักชาติ เสียสละให้มากขึ้น และร้อยละ 55.3 ระบุให้ยุติการขัดแย้งภายในประเทศโดยเร็ว ในขณะที่ร้อยละ 46.5 กำลังเตรียมตัวเตรียมใจต่อสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ของประเทศขณะนี้
นอกจากนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล โดยพบว่า มีอยู่ 3 มาตรการที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.6, ร้อยละ 64.1 และร้อยละ 57.3 คิดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ คือ มาตรการชะลอการปรับค่าก๊าซหุงต้มในครัวเรือน, มาตรการลดค่าไฟฟ้า หากใช้ไม่เกิน 80 ยูนิตต่อเดือน และมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมัน 6 เดือน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เหลืออีก 3 มาตรการ คือ มาตรการไม่คิดค่าโดยสารรถเมล์ร้อนจำนวน 800 คันในกรุงเทพมหานคร, มาตรการไม่คิดค่าโดยสารรถไฟ ชั้น 3 ที่ไม่ปรับอากาศ และมาตรการลดค่าน้ำประปาหากใช้ไม่เกิน 60 คิวต่อเดือนตามลำดับ พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายอะไรเลย
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ความนิยมของสาธารณชนต่อนายสมัคร สุนทรเวช ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกำลังเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 30.7 มาเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ร้อยละ 52 และร้อยละ 57.1 ในการสำรวจครั้งล่าสุด อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนก็มีอัตราลดลง จากร้อยละ 52 ในเดือนมีนาคมมาอยู่ที่ร้อยละ 40.6 ในเดือนมิถุนายน และร้อยละ 40.4 ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลออก 6 มาตรการ 6 เดือนมา ทำให้กลุ่มคนที่ขออยู่ตรงกลางหายไปเพิ่มในกลุ่มคนที่สนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช มากขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี โทร.0-2253-5050 ต่อ 322 อีเมล์: nisarat@infoquest.co.th--