นักเคลื่อนไหวตั้งข้อสังเกตการให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียนของพม่า

ข่าวต่างประเทศ Monday July 21, 2008 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          รัฐบาลทหารพม่าประกาศให้สัตยาบันต่อกฏบัตรของอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันนี้ โดยพม่าให้คำมั่นสัญญากับอาเซียนว่าจะพิจารณาเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 
นายเนียน วิน รมว.ต่างประเทศพม่าได้ลงนามในสัตยาบันระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มอาเซียน ขณะที่ไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ยังคงเป็น 3 ใน 10 สมาชิกอาเซียนที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อกฎบัตรอาเซียน
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า กฎบัตรจะมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วันหลังจาก 10 ชาติสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบัน
ภายใต้กฎบัตรอาเซียนนั้น ประเทศสมาชิกจะต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ปรับปรุงธรรมาภิบาลและตัวบทกฎหมาย สนับสนุนและปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน
ที่ผ่านมานั้น พม่าถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ ถึงกรณีที่พม่าถ่วงเวลาการอนุญาตให้องค์กรสากลเข้ามาช่วยเหลือเหยื่อพายุนาร์กิส หลังจากพายุดังกล่าวได้พัดกระหน่ำพม่าเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายสูงถึง 138,000 คน แต่ในที่สุดองค์กรสากลเหล่านั้นก็สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ภายใต้การดำเนินการของอาเซียนและสหประชาชาติ
แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวของพม่า เอกอย บันส์ นักเคลื่อนไหวชาวฟิลิปปินส์ กล่าวว่า เขาเองไม่เชื่อว่ารัฐบาลทหารพม่าจะมีความจริงใจในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ดังนั้น อาเซียนจะต้องผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในพม่าตามที่ได้ระบุไว้ในกฎบัตร ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับอาเซียน
ทั้งนี้ หลังจากเกิดพายุไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มพม่าได้เพียง 7 วัน พม่ายืนกรานที่จะจัดการลงประชามติรัฐธรรมนูญ โดยมีการลงประชามติสูงถึง 98% และกว่า 92% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงได้ให้การรับรองรัฐธรรมนูญ ขณะที่นางออง ซาน ซู จี ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักเกือบ 18 ปี ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงประชามติดังกล่าว และมองว่าผลการลงประชามติดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าละอาย
เทรเวอร์ วิลสัน อดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำพม่า กล่าวว่า การให้คำนิยามประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสิทธิมนุษยชนนั้นมีการนิยามที่แตกต่างกันไป พม่ารู้ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนเองก็มีปัญหาในการกำหนดมาตรฐาน พม่าคงจะไม่เปลี่ยนแปลงมุมมองไปสู่ประชาธิปไตยแบบที่มีหลักการ
วิลสันกล่าวว่า แม้ว่าจะให้คำมั่นต่อการเสริมสร้างประชาธิปไตย และกฎหมาย กฎบัตรดังกล่าวก็ไม่ได้มีข้อบังคับหรือความหมายในรูปแบบที่ประเทศตะวันตกคาดคิดว่าจะมี สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ