นายกรัฐมนตรีมานโมฮาน ซิงห์ ของอินเดียจะเดินหน้าความพยายามในการนำเข้าเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในสัปดาห์หน้าภายใต้การสนับสนุนจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐ หลังจากที่คณะรัฐบาลสามารถเอาตัวรอดจากการลงมติไม่ไว้วางใจมาได้ในที่สุด
พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคคองเกรสของนายซิงห์ ได้รับคะแนนเสียงลงมติให้ขยายเวลาในการบริหารประเทศในวาระ 4 ปีต่อไป หลังจากที่มีการอภิปรายเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ถูกมองว่ามีการติดสินบนมาเป็นเวลา 2 วัน
กอนซาเลส กาเลกอส โฆษกกระทรวงต่างประเทศกล่าวว่า สหรัฐจะเรียกร้องให้สมาชิกของคณะกรรมการสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ให้ความช่วยเหลือในการเข้าตรวจสอบข้อตกลงดังกล่าวในระหว่างการประชุมวันที่ 1 สิงหาคมนี้
"รัฐบาลจะกดดันให้มีการเร่งกระบวนการทำข้อตกลงด้านนิวเคลียร์" เอ็น. บาสการา ราโอ ประธานศูนย์การศึกษาสื่อ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการกำหนดนโยบายทางการเมืองในนิวเดลีกล่าว "ผู้นำอินเดียหวังที่จะผลักดันให้เกิดความคืบหน้าด้านข้อตกลงนิวเคลียร์ ก่อนที่จะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นลำดับต่อไป"
ทั้งนี้ ข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอินเดียและสหรัฐที่มีขึ้นเมื่อปี 2548 นั้น ระบุให้อินเดียสามารถเข้าถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โดยไม่ต้องเข้าร่วมเป็นประเทศผู้ทำสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ปี 2513 พร้อมทั้งจะยกเลิกข้อจำกัดของกลุ่มค้าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่จัดส่งสินค้าให้กับอินเดียนับตั้งแต่ได้มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2517 โดยจะไม่มีรายชื่อของอินเดียเป็นเมืองที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ของอินเดียในขณะนี้อาจผ่านความเห็นชอบจาก IAEA และกลุ่มผู้ค้าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ก่อนที่ทางสภาคองเกรสสหรัฐจะยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ขณะที่นางดานา เพอริโน่ โฆษกทำเนียบขาวคาดว่า สภาคองเกรสอาจไฟเขียวแผนการดังกล่าวเช่นเดียวกับ IAEA และกลุ่มผู้ค้าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ 45 ประเทศ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--