ปธ.กมธ.ศึกษาบังคับใช้ รธน.ไม่เชื่อจุดชนวนเหตุนองเลือด แนะรอดูผล 18ส.ค.

ข่าวการเมือง Monday August 4, 2008 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายกระมล ทองธรรมชาติ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ไม่เชื่อว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดตามที่หลายฝ่ายกังวล
"คิดมากไปหรือเปล่า" นายกระมล กล่าวกับผู้สื่อข่าว พร้อมว่า ส่วนตัวอยากเสนอให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.3) ขึ้นมาดำเนินการเหมือนในอดีต แต่ไม่รู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะเห็นด้วยหรือไม่
ส่วนสถานการณ์ขณะนี้สมควรที่จะมีการแก้ไขหรือไม่นั้น นายกระมล กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะ กมธ.กำลังศึกษาอยู่ และมีความเห็นขัดแย้งกันมาก ดังนั้น ต้องรอให้ถึงวันที่ 18 ส.ค.นี้ก่อนจึงจะสามารถตอบได้ว่าควรแก้หรือไม่ และแก้ไขในประเด็นมาตราใดบ้าง ส่วนรัฐสภาจะเอาความเห็นของ กมธ.ไปใช้หรือไม่ก็ได้
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน(พปช.) คาดว่า คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)จะนำเสนอร่างแก้ไขฯ ภายหลังวันที่ 18 ส.ค.แล้ว เพราะต้องการนำผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญฯ ไปประกอบการแก้ไข
ในส่วนของ ส.ส.ยังไม่ได้มีการเสนอ มีแต่ร่างแก้ไขของ คปพร.ที่มี นพ.เหวง โตจิราการ เป็นแกนนำ เสนอร่วมกับประชาชน 2 แสนคน ซึ่งผ่านการตรวจสอบรายชื่อในรัฐสภาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาจะต้องบรรจุวาระทันทีภายใน15 วัน
นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเป็นชนวนทำให้เกิดการนองเลือดนั้น อยากถามว่าใครเป็นผู้ต้องการให้นองเลือด หากไม่ใช่กลุ่มพันธมิตรฯ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ยั่วยุและต้องการให้ทหารเข้ามายุติปัญหาด้วยการรัฐประหาร
ขณะที่แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.)ยังไม่ได้เรียกประชุมอะไรกันเลยแล้วจะไปปะทะกลับกลุ่มพันธมิตรฯ ได้อย่างไร ดังนั้น หากมีการปะทะก็เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มพันธมิตรฯ
"ที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ พูดว่าให้แก้รัฐธรรมนูญได้ต่อเมื่อคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พิพากษาไปแล้วนั้นเป็นเรื่องที่น่าเกลียดมาก และดูถูกรัฐธรรมนูญมาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นของคนไทยทั้ง 63 คน ไม่ใช่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นการแก้ไขก็ต้องทำให้เร็วที่สุด" นายจตุพร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ