ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)เริ่มมีท่าทีที่อ่อนลงในการยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 อาจเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญยังพิจารณาเสร็จไม่ทันวันที่ 18 ส.ค.นี้ตามที่กำหนดไว้เดิม แต่ยังเชื่อว่าเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทันสมัยประชุมนี้อย่างแน่นอน
"จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลังวันที่ 18 สิงหาคม หลังได้ข้อสรุปจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งจะสามารถแก้ไขได้ภายในสมัยประชุมนี้แน่นอน โดยจะแก้เฉพาะประเด็นที่ความคิดตกผลึก ไม่มีปัญหาไปก่อน ประเด็นไหนมีปัญหาต้องศึกษาต่อก็ผ่านไปก่อน เพราะหากรอแก้ไขหมดทั้งฉบับก็คงไม่ได้แก้ไข" นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าว
เมื่อวาน(5 ส.ค.) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันตามรัฐธรรมนูญ ที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานฯ ขอขยายเวลาเนื่องจากยังศึกษาไม่เสร็จ แต่คณะกรรมการวิสามัญฯ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้ขยายเวลาออกไปอีกกี่วัน
"รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามว่าจะยื่นแก้ไขกี่ครั้งก็ได้ เราก็คิดว่าส่วนไหนที่ง่าย เข้าใจกันแล้ว ไม่เป็นปัญหา จะได้ผ่านไปก่อน ส่วนไหนที่ติดปัญหากันอยู่จะได้ไปตั้งอนุกรรมาธิการสนทนากันให้หลากหลาย ให้สังคมตกผลึกทางความคิดก่อน อันนี้จะช่วยให้ส่วนง่ายได้แก้" นายสามารถ กล่าว
ส่วนแนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เกี่ยวกับการชุมนุมนั้น นายสามารถ กล่าวว่า วิปรัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดกัน แต่เป็นความบังเอิญที่นายกรัฐมนตรีพูดเรื่องนี้แล้วไปสอดคล้องกับจังหวะที่นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน ยื่นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พอดี ซึ่งวิปรัฐบาลจะเชิญนายจุมพฏมาชี้แจง หากเห็นด้วยก็จะผลักดันให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่หากไม่เห็นด้วยก็ไม่ผลักดันขึ้นมา แต่จะมีการถอนร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่นั้นเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.
ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานพรรคฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำเป็นระบบ เพราะไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองเท่านั้น แต่กระทบสังคมทั้งหมด หากแก้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจะกระทบกับหมวดอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญทั้งหมด จึงไม่เห็นด้วยที่จะแบ่งเรื่องออกมาแก้ไขหลายครั้งเพราะคิดว่าจะสร้างปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหา
"ฝ่ายค้านพูดชัดเจนว่าถ้าจะต้องแก้ก็เห็นด้วย แต่ควรรอผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ก่อนก็จะเห็นชัดว่าประเด็นใดบ้างที่ควรแก้ไข และเกี่ยวพันกับมาตราใดบ้างก็จะเกิดความรอบคอบมากกว่า และเมื่อถึงเวลานั้นเราจะอธิบายกับสังคมและคนที่ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นได้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อประเทศชาติและระบอบประชาธิปไตย" นายสาทิตย์ กล่าว
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ทำไมถึงต้องเร่งผลักดันให้เสร็จในสมัยประชุมนี้ เพราะความจริงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรอบคอบมาก อย่าลืมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งหนึ่งต้องบังคับใช้ไปนาน และเกี่ยวพันถึงการทำงานของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับส่วนที่ถูกแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด เพราะฉะนั้นอย่าไปผูกมัดเงื่อนเวลาว่าจะต้องแก้เวลานั้นเวลานี้ เพราะถ้าเป็นเชนนั้นจะกลายเป็นการไปเร่งให้ทุกฝ่ายทำงานก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมา
ส่วนที่มีข่าวรัฐบาลจะชะลอการยื่นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ นั้น นายสาทิตย์ กล่าวว่า วิปรัฐบาลคิดถูกแล้วที่ยอมรับฟังกระแสสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ แต่การถอยจะต้องเป็นการถอยจริงๆ คือถอนร่างนี้ออกไปก่อน และถ้าจะทำกฎหมายลักษณะก็ควรที่จะทบทวนใหม่ให้เกิดความรอบคอบ ไม่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานได้ ปัญหาก็จะได้จบ แต่จริงๆ แล้วมีกฎหมายที่สามารถจะดูแลได้อยู่แล้ว
"ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเห็นได้ชัดตอนที่พันธมิตรไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ แล้วกลุ่มอาจารย์โรงเรียนราชวินิตให้ศาลคุ้มครอง พันธมิตรก็ต้องเปิดเส้นทางให้" นายสาทิตย์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--