เหตุการโจมตีจอร์เจียของรัสเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นอาจจะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างสหรัฐและผู้นำกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคู่ปฏิปักษ์แห่งยุคสงครามเย็นที่เกิดขึ้นมาอีกครั้ง ขณะที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ส่งกองกำลังทางอากาศและทางน้ำพร้อมกับปัจจัยช่วยเหลือทางมนุษยชนให้กับจอร์เจีย แต่ทางรัฐมนตรีต่างประเทศฝั่งอียูก็พยายามที่จะเลี่ยงที่จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งมากไปกว่านี้ และวางแผนส่งคณะผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้สังกัดกับกองทัพไปยังพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งในภายหลังแค่นั้น
ท่าทีที่ระมัดระวังของยุโรปที่มีต่อการรุกรานครั้งแรกของรัสเซียตั้งแต่เมื่อปี 2534 ที่สหภาพโซเวียตต้องล่มสลายลงนั้น ชี้ให้เห็นถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันกับสหรัฐในเรื่องบทบาทางการทหารของอียู เช่นเดียวกับสถานการณ์ด้านความสัมพันธ์ทางการค้าและพลังงานกับรัสเซีย
มิค ค็อกซ์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของลอนดอน สคูล ออฟ อิโคโนมิคส์ กล่าวว่า ทั้งยุโรปและสหรัฐต่างเป็นห่วงเรื่องรัสเซีย และคงจะพยายามที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งความแตกต่างทางความคิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องสำคัฐที่รัสเซียจะถือโอกาสใช้ให้เป็นประโยชน์
ในขณะที่ความทรงจำเกี่ยวกับการทำสงครามอิรักยังไม่จางหายไปจากเวทีการเมือง ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบที่เคยเกิดขึ้นในอิรักอีก ดังนั้นความใกล้ชิดระหว่างอียูและรัสเซีย รวมทั้งประเด็นเรื่องเศรษฐกิจทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับอียูที่จะปฏิเสธที่จะไม่ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านของตัวเอง
การค้าระหว่างรัสเซียและอียูพุ่งขึ้นถึง 23% เมื่อปีที่แล้ว มูลค่า 2.84 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้อียูเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย และรัสเซียเองก็เป็นประเทศพันธมิตรรายใหญ่อันดับ 3 ของอียู นอกจากนี้ อียูยังพึ่งพารัสเซียในเรื่องแก็สธรรมชาติด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ อียูจึงต้องหาทางแก้ปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับรัสเซีย ด้วยการเปิดฉากเจรจาครั้งสำคัญไปเมื่อเดือนมิ.ย.เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน
และนี่คือสาเหตุที่ประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซีย์ ของฝรั่งเศสได้เดินทางไปยังรัสเซียในสัปดาห์นี้ และส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปยังจอร์เจียในนามของอียูเพื่อผลักดันให้เกิดข้อตกลงในการหยุดยิง บลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--