นายตวง อันทะไชย คณะกรรมการประสานงานวุฒิสมาชิก(วิป ส.ว.) เปิดเผยว่า ส.ว.ส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แต่หากสร้างแล้วทำให้เกิดความเดือดร้อนก็ต้องฟังเสียงประชาชนก่อน โดยต้องทำตามรัฐธรรมนูญคือให้ประชาชนมีส่วนร่วม เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างมีให้เลือกหลายแห่ง โดยต้องเลือกพื้นที่ที่เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
"ส.ว.คัดค้านการดำเนินการในพื้นที่เกียกกาย โดยเห็นว่าควรชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน เนื่องจากประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง หากถึงเวลาที่เหมาะสม ได้พื้นที่ที่ลงตัวก็ค่อยสร้าง" นายตวง กล่าว
นายตวง กล่าวว่า หากดำเนินการต่อไปโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และไม่ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมคงสร้างไม่ได้ ซึ่งทางตนเองและคณะได้แจ้งให้ประธานวุฒิสภาทราบแล้ว ซึ่งประธานวุฒิสภาก็เห็นด้วยเพราะมีความเดือดร้อนเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ตนเองจะนำผลการหารือของวิป ส.ว.ไปแจ้งไปยังคณะกรรมการจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ไปเซ็นเอ็มโอยูรับทราบด้วย เพื่อให้มีการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง โดย ส.ว.จะจัดเสวนาขยายผลต่อไป หากรัฐบาลเดินหน้าโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
ขณะที่ นายวรินทร์ เทียมจรัส กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้การจัดทำโครงการใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบต้องฟังเสียงประชาชน กรณีนี้ประชาชนร้องขอมาได้ว่าให้รัฐบาลฟังเสียงก่อนดำเนินการ ส.ว.จะช่วยดูว่าประชาชนเสียหายอย่างไร รัฐบาลตัดสินใจบนพื้นฐานอะไร ส่วนที่มีการเซ็นเอ็มโอยูไปแล้วเรื่องนี้เป็นนิติกรรมทางปกครอง หากโครงการมีผลกระทบต่อประชาชน และรัฐบาลไม่ทำตามรัฐธรรมนูญก็สามารถยกเลิกได้ และหากดำเนินการไม่โปร่งใสก็สามารถถึงขั้นถอดถอนได้
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า รัฐบาลต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้บริเวณเกียกกาย ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ เคยศึกษามาเมื่อ 16-17 ปีก่อนจึงเชื่อว่าเหมาะที่สุดเพราะภูมิทัศน์สวยงามรับกับประวัติศาสตร์ แต่เมื่อประชาชน ชุมชน โรงเรียน คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจนต้องย้ายออกไปโดยไม่มีการให้ข้อมูล จึงไม่น่าสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยในปัจจุบัน การสร้างสภาใหม่กระบวนการต้องสวยงามด้วย แต่วันนี้ทำข้ามขั้นตอนกันไปหน่อย
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--