พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กล่าวว่า คณะทำงานแก้ไขสถานการณ์โดยยึดถือหลักการตามระบอบประชาธิปไตยและกรอบดำเนินการตามกฎหมาย ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่การดูแลเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดการปะทะกันจนเกิดความสูญเสีย โดยยืนยันเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่เข้าไปป้องกันเหตุจะไม่ใช้อาวุธหรือความรุนแรง แต่จะเน้นการเจรจาและทำความเข้าใจเป็นหลัก
สำหรับภารกิจคณะทำงานฯ ประกอบด้วย 1.การสร้างความเข้าใจกับคนในชาติได้ตระหนักถึงปัญหาที่ขัดแย้งบานปลายอยู่ในขณะนี้ว่ายังมีทางแก้ไข โดยยึดแนวทางการเจรจาเป็นหลัก 2.การสร้างความเข้าใจกับประชาชนระดับภูมิภาคว่าการชุมนุมเดินทางเข้ามาสมทบในกทม.จะยิ่งก่อให้ปัญหาลุกลาม จึงจะให้ส่วนราชการ เอกชน ทหาร ตำรวจระดับท้องถิ่น ช่วยสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยใช้วิธีสร้างความเข้าใจ มากกว่าสกัดกั้น
3.ฝ่ายตำรวจและทหารจะพยายามสกัดกั้นและป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายเกิดการปะทะหรือใช้กำลังอาวุธเข้าหากัน โดยจะเน้นการข่าวจากทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน 4.จะขอให้สื่อมวลชนร่วมมือกันสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่ากองทัพจะยึดแนวทางแก้ปัญหาด้วยการเจรจาเป็นหลัก รวมถึงกลไกต่าง ๆ ทางกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการเมือง โดยไม่ใช้กำลัง
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ขอบเขตการทำงานของคณะทำงานฯ จะทำให้ 2 ฝ่าย ไม่ใช้ความรุนแรงเข้าหากัน ส่วนกรณีจะเจรจาให้ได้ข้อยุติเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบรรลุวัตถุประสงค์ ถือว่าที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะทำงานฯ พร้อมยืนยันว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะต้องแก้ไขด้วยวิถีทางการเมือง โดยผ่านกลไกกฎหมาย ไม่ใช่การใช้คณะทำงานฯชุดนี้แก้ปัญหา
รวมทั้งการกดดันให้ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกจากทำเนียบรัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของคณะทำงานฯ และยืนยันทหารจะอยู่ข้างประชาชน ไม่ใช่อาวุธเข้าทำร้ายประชาชน ซึ่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกองทัพภาคที่ 1 สามารถดูแลสถานการณ์ให้เกิดความเรียบร้อยได้ โดยจะมีอุปกรณ์ป้องกันตัวแค่โล่และกระบอง เพราะยิ่งมีอาวุธมากก็จะยิ่งสร้างปัญหาและเกิดผลกระทบใหญ่หลวง แต่หากจะใช้อุปกรณ์อื่นก็คงใช้เท่าที่จำเป็น เช่น แก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำ
ผบ.ทบ.ยืนยันว่า ทหารจะอยู่ข้างประชาชนและไม่ใช้ความรุนแรง โดยจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ประชาชนที่แบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายต้องปะทะกัน แต่หากจะปะทะกันก็ให้เป็นเพียงการปะทะกันทางความคิดหรือทางกฎหมายเท่านั้น และสถานการณ์ในขณะนี้ก็ยังไม่จำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวส์ เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในส่วนอื่น ๆ
ผบ.ทบ. กล่าวว่า ทุกฝ่ายเป็นที่ทราบดีว่าอำนาจบริหารไม่สามารถทำงานได้ตามภาวะปกติ ดังนั้นปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลไกของรัฐสภาควรเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบแก้ปัญหาของประเทศชาติมากกว่านี้ และคงจะเหมาะสมกว่าการให้ภาคประชาชนเข้ามาแก้ไข เพราะขณะนี้ภาคประชาชนมีความเห็นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และคงเป็นเรื่องยากที่จะหาจุดสมดุลที่เหมาะสมได้
"เมื่อด้านทหารไม่ใช่ทางออก แต่เป็นกำแพง ก็ต้องใช้ประตูอื่นแก้ปัญหา นั่นคือใช้กลไกรัฐสภา และกลไกทางก.ม.เป็นทางออก เพราะตรงนี้ (ทหาร) ไม่มีประตูจริงๆ ..รัฐสภา ควรต้องรับผิดชอบประเทศชาติมากกว่านี้"ผบ.ทบ. กล่าว
ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่พธม.ยังชุมุนมกันอยู่ในทำเนียบรัฐบาลนั้น ผบ.ทบ.ชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่ได้พิจารณาเพียงแค่กฎหมาย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวจะใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะยิ่งเกิดปัญหาที่ผ่านมา ตร.ยังเป็นจำเลยได้ ทหารก็เป็นจำเลยได้เช่นกัน หากทำแล้วเกิดพลั้งพลาดและเกิดความไม่พอใจ ประเทศชาติจะยิ่งแตกแยกมากขึ้นไปอีก
สำหรับการที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจขู่จะตัดน้ำ-ตัดไฟนั้น หากทำแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองได้ก็ไม่ควรทำ เนื่องจากจะมีผลกระทบในหลายส่วน ไม่ว่าต่อเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนโดยรวม ดังนั้น จึงขอให้สหภาพฯ ใช้วิจารณญาณให้ดี ก่อนตัดสินใจดำเนินการใด ๆ
"ถ้าทำแล้ว แก้ปัญหาไม่ได้ ก็ควรยับยั้งชั่งใจ เพราะจะมีผลกระทบในหลายส่วน การฆ่าหนูตัวเดียว แต่ต้องรื้อหลังคา รื้อบ้าน มันไม่น่าเป็นเรื่องที่ดี"พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/จารุวรรณ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--