สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลสำรวจพบประชาชนยังมีความเห็นก้ำกึ่งกรณีที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพฯ แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ หรือทำปฏิวัติรัฐประหาร
"เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าประชาชนของฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุนมีสัดส่วนก้ำกึ่งกัน จึงดูเหมือนว่าจะยังไม่มีทางออกสำหรับประชาชนทั้งประเทศต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงทางการมืองหลังจากมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีฐานสนับสนุนพอๆ กัน และแต่ละฝ่ายก็มีความเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของตนเองเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทย รวมทั้งการปกครองระบอบประชาธิปไตยดีขึ้น"นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ระบุในเอกสารเผยแพร่
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 50.8 เห็นด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะเหตุการณ์ความวุ่นวายจะได้ยุติโดยเร็ว ลดความรุนแรงของการปะทะ ไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงบานปลาย ถึงเวลาที่ต้องทำ และเหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นต้น ขณะที่ประชาชนร้อยละ 49.2 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบ และเห็ฯว่า พ.ร.ก.ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา มีความรุนแรงเกินไป จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงไปอีก เป็นต้น
ส่วนความเห็นเกี่ยวกับข้อดีกับข้อเสียของการยึดอำนาจนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 67.2 เห็นว่าข้อเสียของการยึดอำนาจจะมากกว่าข้อดี ขณะที่ร้อยละ 32.8 คิดว่าข้อดีจะมากกว่า
"ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการยึดอำนาจเกิดขึ้นอีกแล้ว...ทางออกในการแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันได้" นายนพดล กล่าว
ความเห็นที่ได้จากการสำรวจ เห็นว่าข้อดีของการยึดอำนาจ ได้แก่ บ้านเมืองจะได้สงบสุขโดยเร็ว ความวุ่นวายจะได้น้อยลง การชุมนุมประท้วงจะได้ยุติ ไม่ให้เกิดการปะทะกัน ไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงบานปลาย จะได้มีการเลือกตั้งใหม่ เปลี่ยนรัฐบาล จัดการทุกอย่างให้เป็นระเบียบมากขึ้น และประชาชนจะได้มีความปลอดภัยมากขึ้น
ด้านข้อเสียฯ ได้แก่ ประเทศชาติจะเสียหาย ต่างประเทศจะต่อต้านไทยและขาดความเชื่อมั่น เศรษฐกิจจะตกต่ำ เป็นการทำลายประชาธิปไตย เป็นเผด็จการ ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ไม่สามารถยุติความวุ่นวายได้จริง อาจทำให้รุนแรงมากขึ้นอีก เป็นต้น
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เสนอทางออกเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ได้แก่ รณรงค์ให้ประชาชนแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่เป็นพฤติกรรมเชิงบวก, ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งมากขึ้น, สื่อสารมวลชนเข้ามาช่วยบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนให้ลดความร้อนแรงลง และลดกระแสยุยงก่อกวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ขณะเดียวกันกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ น่าจะอดทนอดกลั้น รอจังหวะเวลาที่กำลังเดินเข้าใกล้การคลี่คลายสถานการณ์การเมืองปัจจุบันให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี
อนึ่ง เอแบคโพลล์ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินและข้อดีข้อเสียของการยึดอำนาจ จากประชาชน 16 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 2-3 ก.ย.นี้
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--