กกต.แจงขั้นตอนลงประชามติส่อลากยาวถึงปีหน้า การตั้งประเด็นยังมีปัญหา

ข่าวการเมือง Friday September 5, 2008 10:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เปิดเผยว่า ขั้นตอนการลงประชามติตามแนวทางของรัฐบาลยังอาจต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 90 วันในการเตรียมการ และขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าประเด็นที่รัฐบาลจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติต่อสถานการณ์บ้านเมืองจะมีประเด็นใดบ้าง แต่ที่สำคัญต้องไม่ใช่การทำประชามติในประเด็นที่เกี่ยวกับคณะบุคคล หรือประเด็นที่เกี่ยวกับข้อห้ามทางกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
"หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญบอกว่าจะทำ(ประชามติ)เกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคลโดยเฉพาะไม่ได้ บางประเด็นกฎหมายห้ามไม่ให้ทำ เช่น การทำประชามติในการแบ่งแยกประเทศ ทำไม่ได้แน่...ต้องดูก่อนว่าหัวข้อจะเขียนว่าอะไร ตอนนี้เราได้แต่คาดเดากันไป แต่ในรัฐธรรมนูญบอกว่าถ้าจะทำประชามติเกี่ยวกับคณะบุคคลคงไม่ได้ เช่น ถามว่า นาย ก.ควรเป็นนายกฯ หรือไม่ เพราะถามอย่างนี้จะมีปัญหา ส่วนคำว่าพันธมิตรฯ ก็ต้องตีความก่อนว่าถือเป็นคณะบุคคลหรือไม่" นายประพันธ์ ระบุ
นายประพันธ์ ชี้แจงถึงขั้นตอนในการจัดทำประชามติว่า สัปดาห์หน้าที่ประชุมวุฒิสภาจะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงการทำประชามติ ซึ่งจะมีขั้นตอนการพิจารณาภายใน 30 วัน จากนั้นพอพิจารณาเสร็จแล้ว ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาภายใน 30 วันว่ามีมาตราใดที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หากศาลวินิจฉัยแล้วว่าไม่มีมาตราใดที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ หลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรี จะต้องหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และผ่านเป็นมติคณะรัฐมนตรีออกมาว่าจะมีการทำประชามติในเรื่องใด ซึ่งเมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วถึงจะส่งมาให้ กกต.กำหนดวันออกเสียงประชามติ
"ถ้ามีกฎหมายแล้ว ส่งมาที่ กกต. เราก็ต้องออกประกาศเพื่อกำหนดวันออกเสียงประชามติไม่ช้ากว่า 7 วัน ส่วนจะลงวันไหนนั้น ในร่าง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กำหนดเวลาไว้ว่าต้องไม่เร็วไปกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ได้มาอภิปรายชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนตัดสินใจ" นายประพันธ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงขั้นตอนทั้งหมดแล้วจนกว่าจะถึงวันที่ประกาศให้ลงประชามติได้นั้น คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 เดือนนับจากนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ