(เพิ่มเติม) วุฒิสภามีมติ 119 ต่อ 5 ผ่านร่างกม.ประชามติ วาะแรก ตั้งกมธ.แปรญัตติต่อ

ข่าวการเมือง Friday September 5, 2008 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ที่ประชุมวุฒิสภาวันนี้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาะแรก ด้วยคะแนนเสียง 119 ต่อ 5  และ งดออกเสียง 1 เสียง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 29 คนขึ้นมาแปรญัตติในมาตราต่าง ๆ ของกฎหมายฉบับนี้ต่อไป
สมาชิกวุฒิสภา มีการหารือกันอย่างกว้างขวางในระหว่างการอภิปราย โดยนายตวง อัณทะไชย ส.ว.สรรหา ตั้งข้อสังเกตว่าการทำประชามติตามมาตรา 165 ว่าด้วยเรื่องการทำประชามติ อยากทราบว่าตัวนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถือว่าเป็นตัวบุคคลหรือไม่ เพราะบางคนเห็นว่าตัวบุคคลหมายถึง นาย ก. นายข. นาย ค. จึงอยากทราบความชัดเจนตรงนี้
ขณะที่นายธนู กุลชล ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กกต.มีอำนาจในการท้วงหรือพิจารณาได้หรือไม่ว่ามติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการทำประชามติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เพราะขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามติครม.ที่ให้มีการทำประชามตินั้นไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนอาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายได้
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. สรรหา กล่าวว่า ควรเพิ่มหลักการของการทำประชามติที่จะต้องระบุขั้นตอนการให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเพียงพอ อีกทั้งควรจัดให้ประชาชนทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้รับข้อมูลรอบด้านและมีการแสดงความคิดเห็นได้เท่าเทียมกัน
นอกจากนั้นควรมีการจัดการรักษาความสงบเรียบร้อยในการทำประชามติ โดยต้องป้องกันไม่ให้มีอิทธิพลใดมาชี้เหนือการตัดสินใจของประชาชน เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ประชาชนมีความแตกแยกกันมากขึ้น
นางสาว รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ตั้งข้อสังเกตว่า การทำประชามติเป็นเรื่องของประชาชน แต่กลายเป็นว่าการริเริ่มการทำประชามติกลับมาจากรัฐบาลทั้งที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ริเริ่มนโยบายซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐแทบทั้งสิ้น แต่ประชาชนกลับไม่สามารถเรียกร้องให้มีการริเริ่มการทำประชามติได้ซึ่งเป็นไม่เป็นธรรม เพราะรัฐบาลมีเครื่องมือที่จะชี้นำประชาชนได้
ดังนั้นเสนอว่าจากนี้ไปควรมองภาพใหญ่โดยการให้ประชาชนสามารถริเริ่มการทำประชามติเองได้เพื่อถ่วงดุลกับรัฐบาล ไม่เช่นนั้น
จะเป็นเหมือนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่ไม่ฟังความคิดเห็นของประชาชน จนประชาชนได้รับความเดือดร้อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ