ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ชาวต่างประเทศมองประเทศไทยอย่างไร หลังเกิดเหตุปะทะกันรุนแรงและการประกาศภาวะฉุกเฉิน" กรณีศึกษาตัวอย่างนักธุรกิจ นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 532 ราย ระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2551
ผลสำรวจความพึงพอใจจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่าความพึงพอใจของชาวต่างประเทศลดต่ำลงในวงจำกัด 3 ด้าน คือ ด้านสถานการณ์การเมือง ชาวต่างประเทศพอใจลดต่ำสุดจาก 6.27 มาอยู่ที่ 4.96 ด้านสภาวะเศรษฐกิจลดจาก 6.59 มาอยู่ที่ 5.91 และด้านความเป็นธรรมในสังคมลดจาก 6.02 มาอยู่ที่ 5.57
อย่างไรก็ตาม ด้านอื่นๆ กลับเพิ่มขึ้นได้แก่ พอใจต่อประชาชนคนไทยเพิ่มจาก 8 มาอยู่ที่ 8.20 ด้านวัฒนธรรมไทยเพิ่มจาก 7.86 มาอยู่ที่ 8.12 ด้านอาหารไทยเพิ่มจาก 8 มาอยู่ที่ 8.16 ด้านสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มจาก 7.14 มาอยู่ที่ 7.43 ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 7.28 มาอยู่ที่ 7.32 ด้านการบริการของด่านตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มจาก 7.13 มาอยู่ที่ 7.25 เมื่อสอบถามถึงความสุขมวลรวมของชาวต่างประเทศในประเทศไทย เปรียบเทียบก่อนและหลังเกิดเหตุปะทะรุนแรงและประกาศภาวะฉุกเฉิน พบว่า ความสุขมวลรวมของชาวต่างประเทศกลับไม่แตกต่างคือ จาก 8.02 มาอยู่ที่ 8.06
นอกจากนี้ เมื่อถามว่าจะกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีกหรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่า จะกลับมาอีก คือร้อยละ 96.7 ก่อนเกิดเหตุปะทะ และร้อยละ 97.0 หลังเหตุปะทะและประกาศภาวะฉุกเฉินระบุว่า จะกลับมาอีก และเมื่อถามว่าจะชักชวนคนอื่นๆ ในประเทศมาเที่ยวเมืองไทยอีกหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 97.6 ก่อนเกิดเหตุปะทะ และเกือบร้อยละ 100 หรือร้อยละ 98.9 ระบุจะยังคงชักชวนคนอื่นๆ ในประเทศกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีก
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี โทร.0-2253-5050 ต่อ 322 อีเมล์: nisarat@infoquest.co.th--