นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิไตยที่ใช้ชื่อ"สงครามครั้งสุดท้าย"นั้น มองว่า เป็นสงครามที่นำไปสู่ความเกลียดชัง ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรง
ส่วนพิมพ์เขียวการเมืองใหม่มองว่าระบบการเมืองที่เป็นอยู่เสียดุล การสร้างระบบการเมืองดุลอำนาจใหม่ มี 3 ส่วน คือ พันธมิตรฯ โยงบทบาทกองทัพเข้ามากำกับการเมือง เมื่อมีการทุจริตคอรัปชั่น หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และละเมิดอธิปไตย, ตุลาการภิวัฒน์ และระบบการเมืองใหม่แบบ 70/30
"เหมือนกับเรากำลังเผาบ้านเพื่อจับหนูเหมือนที่เรารื้อประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ไม่มีหลักประกันในอนาคตว่าการสรรหาในอนาคตเป็นอย่างไรและไม่รู้ว่าพิมพ์เขียวที่ออกมาแก้ปัญหาได้มากน้อย แต่ก็ทำให้เกิดดุลอำนาจที่เกิดขึ้นใหม่ การเมืองใหม่เกี่ยวข้องกับการนำเอาอำนาจนอกระบบทั้งสิ้น เนื่องจากพันธมิตรไม่เอาการยุบสภา การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เอานายกฯลาออก และไม่เอาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องสร้างกติกาขึ้นมาใหม่ คงหนีไม่พ้นการใช้อำนาจนอกระบบ จะทำให้กลับเข้าสู่วงจรเหมือนเดิม ต้องหาทางออกว่าทำอย่างไรถึงจะออกจากวงจรนี้ได้" นายประภาส กล่าวในเสวนาทางวิชาการ "ยังมีทางเดินไปข้างหน้าอีกไหม ตามระบอบประชาธิปไตย"
สำหรับข้อหาบกฎที่แกนนำพันธมิตรฯ ถูกดำเนินคดีเหมาะสมแล้ว เพราะวันนี้พันธมิตรฯเปรียบเหมือนกองกำลังประชาชนปฏิวัติ ที่มีเป้าหมายเปลี่ยนระบบการปกครอง
ด้าน นายไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเมืองใหม่สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่พอใจการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ การเมืองใหม่ที่ต้องทำใจเป็นกลาง ต้องมองว่ารูปแบบการปกครองไม่ว่าอำนาจจะอยู่ที่คนๆ เดียว กลุ่มคนหรือมหาชนจะต้องไม่ดีหรือเลวเสมอไป
หากเปลี่ยนการเมืองใหม่และยังคิดอยู่ในกรอบประชาธิปไตยมีรัฐสภา จำเป็นต้องมีประมุขแห่งรัฐ ซึ่งมีทั้งประเภทมาจากการเลือกตั้งทางตรง คือประชาชนเป็นคนเลือกประมุขแห่งรัฐ และทางอ้อม นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เลือก และต้องพิจารณาว่าจะมีสองสภาหรือไม่ และทำอย่างไรให้ความชัดเจนของการคานอำนาจอยู่ในสภา
ขณะที่ นายอานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้เรามองการเมืองแบบแคบ พูดแต่การเมืองที่อยู่ในระบบ โดยเฉพาะการมองแบบต้องได้คนที่เปรียบเหมือนพระหรือเทวดามาแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องการช่วงชิงอำนาจ จะให้สะอาดและบริสุทธิ์ไม่ได้
ปัญหาสำคัญวันนี้คือไม่มีพื้นที่การเมืองให้กับชนชั้นกลางได้แสดงความคิดเห็น และเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคทุนนิยมที่เน้นเรื่องวัตถุ แต่ขาดการพัฒนาด้านจิตใจ ดังนั้นถ้าไม่สามารถปลดชนวนทางความคิดก็ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ การที่เน้นเรื่องชาตินิยมจะทำให้การเมืองมีปัญหา
ส่วนนายอัภยุทธ์ จันทราพฐ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาคมีข้อสรุปดังนี้ ฝ่ายพันธมิตรฯ และนายกรัฐมนตรีควรจะถอยคนละก้าว, เสนอให้มีการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อเลือกรัฐบาลใหม่ และให้พันธมิตรฯ เคารพต่อระบบ เมื่อมีการยุบสภา ก็ควรจะเข้ามาต่อสู้ในกระบวนการ
นายอภิชาติ สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่า การที่จะหานักการเมืองที่มีความซื่อสัตย์และมีความเที่ยงธรรมเหมือนเทวดาคงไม่มี และเชื่อว่าถ้าไม่มีการซื้อเสียงพรรคพลังประชาชนก็จะชนะการเลือกตั้ง เพราะการซื้อเสียงไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่ประชาชนโดยเฉพาะคนชนบทเลือกพรรคพลังประชาชนมากกว่า
ด้านนายจอน อึ๊งภากร อดีต สว.กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการใช้ 2 มาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างมาก ไม่อยากให้เกิดกรณีเช่นนี้ หากรู้ว่าหลักการและคุณค่าของตนเองตั้งอยู่ตรงไหนก็จะไม่มีการยกเว้นการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ไม่อยากให้ท้อแท้กับการเมือง ระบบเลือกตั้ง และรัฐสภา เพราะหากประชาชนตัดสินใจเลือกคนผิดเข้ามาก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเรียนรู้และเติบโต ไม่ควรใช้การปฏิวัติเข้ามาแก้ปัญหา
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--