ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการจัดรายการโทรทัศน์ของนายสมัคร สุนทรเวช ขัดต่อคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการทำหน้าที่พิธีกรรายการโทรทัศน์ให้กับบริษัทเอกชนถือว่าเป็นลูกจ้างประเภทหนึ่ง โดยได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทเอกชน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 267
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การที่คณะรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามการสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัครนั้น ศาลวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับตำแหน่ง
ตุลาการฯ ระบุในการอ่านคำวินิจฉัยในช่วงบ่ายวันนี้ว่า ประเด็นการรับจ้างทำหน้าที่พิธีกรรายการโทรทัศน์ของนายสมัครถือว่าเป็นลูกจ้างประเภทหนึ่ง ที่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทเอกชน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ในบริษัทเอกชน แม้ว่าการตีความคำว่าลูกจ้างอาจไม่ตรงตามกฎหมายบางฉบับ แต่ก็ให้ถือตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นอกจากนั้น จากการพิจารณาพยานหลักฐานและคำให้การ เชื่อได้ว่าหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว นายสมัครยังได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์ ส่วนหลักฐานที่ได้ยื่นแสดงต่อศาลถึงการรับค่าตอบแทนในช่วงที่ผ่านมา ศาลเห็นว่ามีพิรุธที่อาจเป็นการสร้างหลักฐานขึ้นมาย้อนหลัง
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้นายสมัครสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังได้ชี้ต่อไปว่านายสมัครไม่สามารถรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ขณะที่คณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่จะต้องสิ้นสุดสภาพไปตามนายกรัฐมนตรี ยังสามารถรักษาการในตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมารับตำแหน่งแทน
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--