นายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 50 ตั้งแต่ 3 ก.ย.โดยระบุว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ มอบหมาย นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน รองประธานคนที่ 1 ทำหน้าที่แทนไปจนครบกำหนดกรอบการทำงานวันที่ 17 ก.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้อนุกรรมาธิการทั้ง 5 ชุดได้สรุปผลผลการศึกษาแล้วเร็จแล้ว โดยคณะกรรมาธิการจะพิจารณาเป็นรายคณะเพื่อเป็นความเห็นสรุปของคณะกรรมาธิการต่อไป
สำหรับในวันนี้เป็นการพิจารณาคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้าง การจัดหมวดหมู่การใช้ภาษาของรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล ที่มีนายคณิน บุญสุวรรณ เป็นประธานพิจารณา โดยประเด็นที่น่าสนใจ คือกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 หากไม่ผ่านความเห็นของรัฐสภาในวาระ 3 ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเป็นการตัดสินชี้ขาด ซึ่งคณะกรรมธิการเห็นด้วย
แต่นายทิวา เงินยวง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่าหากจะต้องทำการประชามติจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่าต้องเป็นความเรื่องความเสียหายของชาติ และไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มิเช่นนั้นหากมีใครแก้รัฐธรรมนูญเพียงเล็กน้อยและต้องการทำประชามติอาจจะเสียเงินแต่ละครั้งประมาณ 2 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยังเห็นว่ากรณีศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาเข้ามาแทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลังจากผ่านการพิจารณาของรัฐสภาด้วย หากไม่เห็นชอบในประเด็นหลักก็ปรับตกได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีที่เป็นประมุขฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจดังกล่าว ส่งผลกระทบเรื่องโครงสร้างของ 3 สถาบัน
ต่อมาที่ประชุมยังพิจารณาเรื่องบทเฉพาะกาล โดยนายจุมพล ณ สงขลา คณะกรรมการฯ และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นในมาตรา 306 ที่อนุญาตให้ผู้พิพากษาอาวุโสในชั้นศาล เกษียญอายุ 70 ปีบริบูรณ์ ไม่ยุติธรรมกับข้าราชการอื่น ๆ เพราะเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบกับเงินบำเหน็จบำนาญ
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้สอบถามถึงการแก้ไขมาตรา 309 ว่าจะส่งผลให้ช่วยเหลือคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ นายคณิน ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่การร่างมาตรานี้เนื่องจากสสร.ต้องการคุ้มครองความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร และองค์กรที่เกิดจากอำนาจดังกล่าวไม่มีความผิดทั้งในอดีตและอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะอนุกรรมาธิการเป็นห่วงว่าหากคนกลุ่มนี้ไปทำผิดกฎหมายในอนาคต มาตรา309 จะคุ้มครองหรือไม่และอาจทำความลำบากในการตัดสินของศาลด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/ศศิธร/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--