นายปกรณ์ ปรียากร คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยว่า การเลือกผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพรรคที่มีเสียงข้างมาก จะต้องคำนึงถึงกระแสสังคมที่ต้องการให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นแนวทางการลดความขัดแย้งทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงทำได้ 4 แนวทาง
แนวทางแรก ให้พรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดย พปช. ที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องบริหารราชการแผ่นดินที่มีความประนีประนอม พร้อมเจรจากับทุกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่แนวทางดังกล่าวเชื่อว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)อาจไม่ยอมรับ
แนวทางที่ 2 จัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคร่วมรัฐบาลเดิม แต่อาจเสนอบุคคลที่เหมาะสมที่มีวัยวุฒิทางการเมืองที่สังคมยอมรับจากพรรคร่วมรัฐบาลมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำหน้าที่ประสานรอยร้าว ลดความขัดแย้งทางการเมือง โดยนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เหมาะสมที่สุด
แนวทางที่ 3 ให้พรรคร่วมรัฐบาลเดิม สลายขั้วการเมือง และจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาล ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อปลดชนวนความขัดแย้ง แต่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่ทำได้ยาก
แนวทางสุดท้าย ให้ทุกพรรคการเมืองร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล และให้ พปช.และกลุ่ม พธม.เสนอรายชื่อคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่จัดตั้งจะเข้ามาบริหารประเทศได้ไม่นาน เพราะภารกิจหลักคือมาลดปัญหาความขัดแย้ง หลังจากนั้นจะประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ และหาก พปช.ยังผลักดันให้นายสมัคร สุนทรเวช กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบจะยิ่งสร้างความไม่พอใจให้สังคม เป็นการตบหน้าประชาชน และอาจส่งผลให้ ส.ส.รุ่นใหม่ในพรรคไม่พอใจ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่ไม่เห็นด้วย และ ยิ่งสร้างปัญหาความขัดแย้งรุนแรงขึ้นจากกลุ่ม พธม.
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--