แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้จะพิจารณาร่างนโยบายรัฐบาลเพื่อเตรียมแถลงต่อรัฐสภาภายในวันที่ 8 ต.ค.นี้ โดยประกอบด้วยนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการในปีแรก 14 ด้าน นโยบายหลัก 8 ด้าน และนโยบายย่อยอีก 14 ด้าน ซึ่งนโยบายทั้งหมดจะดำเนินการภายใน 3 ปี
"นโยบายรัฐบาลใหม่จะเป็นสูตร 14-8-14-28 จะมีนโยบายเร่งด่วนในปีแรก 14 ด้าน นโยบายหลัก 8 ด้าน นโยบายย่อย 14 ด้าน รวมทั้งหมดมีจำนวน 28 หน้า ซึ่งนโยบายทั้งหมดนั้นจะทำภายใน 3 ปี" แหล่งข่าว ระบุ
นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเข้ามาดำเนินการก่อน คือ นโยบายสร้างความปรองดองของคนในชาติ และนโยบายการฟื้นฟูประชาธิปไตย นอกจากนี้ จะมีเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะปัญหาชายแดนและการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์, การพัฒนาด้านการศึกษา, การหารายได้เข้ารัฐบาลที่จะหาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้ง การให้โอกาสคนจนเข้าถึงแหล่งเงินทุน และนโยบายแก้ไขปัญหาปากท้อง เพื่อให้เกิดการบรรเทาภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกผันผวน
กำหนดเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนาให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการพัฒนาและการบริหารประเทศดังนี้ ซึ่งประกอบเป็นนโยบายหลัก 8 ด้าน ได้แก่ ด้านแรก การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เป็นวาระแห่งชาติ, ด้านที่สอง นโยบายการฟื้นฟูประชาธิปไตย,
ด้านที่สาม การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มทุนหมุนเวียน เตรียมความพร้อมรองรับการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อประชาชน โดยใช้มาตรการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายขยายโอกาสให้แก่ประชาชน เช่น พักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้สร้างรายได้ใหม่, ต่อยอดจัดสรรงบ SML, ปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท, ประกาศปีท่องเที่ยวไทย ประทับใจไทยแลนด์ โดยให้ปี 2551-2552 เป็นปีการท่องเที่ยวไทย เป็นต้น
ด้านที่สี่ เร่งผลักดันให้ดำเนินการลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ "งานมั่นใจไทยแลนด์ : การลงทุนเพื่ออนาคตของคนไทย" การวางโครงข่ายคมนาคมและระบบขนส่งสินค้าครบวงจร(โลจิสติกส์), ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมทางรถไฟ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง และขยายรางให้ได้มาตรฐานเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนากองเรือพาณิชย์นาวี เป็นต้น
ด้านที่ห้า นโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนา ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนจากธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดความสมดุลกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ โดยสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานแบบผสมผสาน ปรับสัดส่วนการใช้พลังงานในการขนส่งจากน้ำมันเป็นก๊าซธรรมชาติ มุ่งส่งเสริมการขยายสถานีบริการแก๊สให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวแก่ประชาชน
ด้านที่หก การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างยุทธศาสตร์การแสวงหาองค์ความรู้เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิต โดยการปฏิรูประบบการศึกษา หลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดยปฏิรูปการเรียนรู้ยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง, โครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เรียนก่อนผ่อนทีหลัง ปรับโครงสร้างหนี้สินครูและบุคคลากรทางการศึกษา
ด้านที่เจ็ด รัฐบาลมีแนวทางบริหารเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก มีนโยบายที่จะพัฒนาการเมืองของประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถปกครองตนเอง และพิทักษ์สิทธิของตนได้ รวมทั้งจะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส และขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบริหารราชการแผ่นดิน และการให้บริการประชาชน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม และเอื้อต่อการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยจะยึดปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
และด้านที่แปด การบริหารราชการโดยจัดระบบงบประมาณของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ให้สอดคล้องและต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาของประเทศ และมีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการใช้งบประมาณของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม จังหวัดและท้องถิ่น รวมถึงการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายด้านงบประมาณให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวและแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ให้มีระบบควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--