In Focusบารัค โอบามา-จอห์น แมคเคน กินกันไม่ลงในศึกดีเบตยกแรก

ข่าวต่างประเทศ Monday September 29, 2008 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการโต้วาทีแสดงวิสัยทัศน์ หรือ ดีเบต รอบแรกของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 44 ระหว่าง จอห์น แมคเคน จากพรรครีพับลิกัน และ บารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต
แต่กว่าจะได้ชมลีลาแลกหมัดปะทะคารมกันระหว่างผู้สมัครทั้งสอง ก็เรียกว่าต้องลุ้นกันจนถึงวินาทีสุดท้าย เมื่อแมคเคนเสนอให้เลื่อนการดีเบตออกไปก่อน รวมถึงพักยกหาเสียงชั่วคราว จนกว่าที่ประชุมสภาคองเกรสจะอนุมัติข้อตกลงกู้วิกฤตการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี จะด้วยเพราะถูกโอบามาท้าทาย ถูกสื่อสหรัฐกดดัน หรือจะด้วยเหตุที่นายแมคเคนเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ที่แผนดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบ การโต้วาทีดังกล่าวจึงเกิดขึ้นตามกำหนดการคืนวันศุกร์ที่ 26 หรือ ตรงกับ 8 โมงเช้าวันเสาร์ตามเวลาประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ เมืองอ็อกซ์ฟอร์ด
แรกเริ่มเดิมทีนั้น การดีเบตยกแรกนี้มุ่งเน้นให้ผู้สมัครทั้งสองได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นหัวข้อที่แมคเคนดูจะมีภาษีดีกว่าสักหน่อย แต่ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ เศรษฐกิจกำลังเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายจับจ้อง ท่ามกลางการประชุมเครียดนานถึง 9 วันของบรรดาผู้นำสภาคองเกรสเกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูภาคการเงินที่คณะทำงานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช นำเสนอ ผู้สมัครทั้งสองคนจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะหยิบยกประเด็นเศรษฐกิจขึ้นมาปะทะคารมกัน
ขึ้นเวทีปะทะคารมหนแรก: นโยบายเศรษฐกิจ-ต่างประเทศ
ในช่วง 40 นาทีแรกของการโต้วาที เป็นเรื่องของเศรษฐกิจล้วนๆ โดย จิม เลห์เรอร์ พิธีกรชื่อดังของสถานีโทรทัศน์พีบีเอสและเป็นผู้ดำเนินรายการ ได้เปิดเวทีให้ผู้สมัครทั้งสองได้สาธยายแนวทางแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ซึ่งแมคเคนก็ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนแผนกู้วิกฤติ 7 พันล้านของรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่โอบามากล่าวโจมตีว่า การที่รัฐบาลสหรัฐต้องดิ้นรนใช้แผนอุ้มสถาบันการเงินเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลวตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ประธานาธิบดีบุชบริหารประเทศ อีกทั้งกล่าวว่าแผนการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะอุ้มสถาบันการเงินในวอลล์สตรีท มากกว่าที่จะช่วยเหลือประชาชนทั่วไปอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ โอบามาและแมคเคนยังได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับตัวเลขการใช้จ่ายของรัฐบาลและภาษี ซึ่งทั้งสองฝ่ายถูกตั้งคำถาม และโต้ตอบกันไปมาอย่างเผ็ดร้อน โดยแมคเคนกล่าวว่า หากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เขาจะควบคุมตัวเลขการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางไม่ให้บานปลาย พร้อมถือโอกาสโจมตีโอบามาว่าเป็นนักการเมืองที่มีนโยบายใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และไม่สามารถทำให้รีพับลิกันและเดโมแครตรวมกันเป็นหนึ่งได้ ขณะที่โอบามาตอบโต้ว่า แมคเคนตั้งใจจะลดภาษีให้กับคนร่ำรวยมากกว่าที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงของราษฎรผู้เสียภาษี
ด้านนักวิเคราะห์มองว่าไม่มีผู้สมัครคนใดสามารถลงรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจได้เด่นชัดเท่าที่ควร แต่กระนั้นโอบามาก็ดูผ่อนคลายกว่าแมคเคนในการโต้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นจุดอ่อนของแมคเคน ดังที่กลุ่มสนับสนุนนายโอบามาเคยโจมตีแมคเคนมาก่อนว่าเขาไม่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และสาเหตุที่วุฒิสมาชิกแอริโซนาประกาศไม่ร่วมการดีเบตหากแผนกู้วิกฤติไม่ได้รับไฟเขียวจากสภานั้น แท้จริงแล้วก็เป็นแค่ข้ออ้างเพื่อประวิงเวลาไปหาข้อมูลมารับมือกับนายโอบามาเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ใช่ว่า ปู่แมคเคนวัย 72 ปีจะไม่มีดีมาต่อกรกับคู่แข่งรุ่นน้อง เพราะเมื่อการโต้วาทีเข้าสู่หัวข้อนโยบายต่างประเทศ ดูเหมือนว่า อดีตเชลยสงครามเวียดนามอย่างแมคเคนจะเป็นฝ่ายได้เปรียบบ้าง ด้วยประสบการณ์ที่โชกโชนกว่า
โดยแมคเคนกล่าวโจมตีคู่แข่งเรื่องประสบการณ์ที่ยังอ่อนด้อยเกินกว่าที่จะลุกขึ้นเป็นผู้นำประเทศ พร้อมกับชี้ว่าโอบามาไร้เดียงสาเรื่องภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่สหรัฐต้องเผชิญ โดยเฉพาะเรื่องสงครามอิรัก โอบามาคิดผิดที่ไม่สนับสนุนการเพิ่มกำลังทหารในอิรักเมื่อปีที่แล้วซึ่งช่วยลดเหตุรุนแรงในอิรักได้ ขณะที่วุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์วัย 47 ปีตอบโต้ทันควันว่า ทั้งประธานาธิบดีบุชและวุฒิสมาชิกแมคเคนจดจ่อเรื่องสงครามอิรักมากเกินไปจนไม่สนใจปัญหาอื่นๆของประเทศ ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐจะต้องมีวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ที่กว้างไกลกว่านี้ เพราะความท้าทายที่สหรัฐเผชิญอยู่นั้นไม่ได้มีแค่สงครามอิรักเพียงเรื่องเดียว โดยเขาไม่ได้ตอบโต้ข้อกล่าวหาเรื่องการด้อยประสบการณ์ แต่เน้นว่าการตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญ
ผู้ชนะ?
ทั้งนี้ เป็นไปตามคาดเมื่อเสร็จสิ้นการโต้วาทียกแรก ทีมหาเสียงของทั้งคู่ต่างก็ออกมาประกาศชัยชนะเหนือคู่แข่ง โดยฝ่ายเดโมแครตอ้างว่า โอบามาชี้แจงได้ดีด้านนโยบายต่างประเทศ โดยไม่ได้ถูกต้อนจนมุมดังตามที่บางคนหวั่นเกรงก่อนการดีเบตเปิดฉาก ด้านทีมหาเสียงของพรรครีพับลิกันก็ออกมาเน้นย้ำว่า วันที่ 4 พ.ย. นี้ ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิออกเสียงจะออกไปโหวตเลือกผู้นำที่มีประสบการณ์
ด้านสื่อมวลชนของสหรัฐไม่ว่าจะเป็นซีเอ็นเอ็น, หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์, วอชิงตัน โพสต์ รวมถึงหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจชั้นนำอย่าง วอลล์สตรีท เจอร์นัล ไม่ได้ฟันธงว่าใครเป็นผู้ชนะ โดยส่วนใหญ่จะมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า นายโอบามาพูดได้ดีเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนนายแมคเคนยังคงไว้ลายเรื่องนโยบายต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าชาวบ้านทั่วไปจะเทใจให้ผู้สมัครหนุ่มมากกว่า โดยผลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกัน ซึ่งมีมากถึง 60 ล้านคนที่ชมการถ่ายทอดสดผ่านจอโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงฟังผ่านวิทยุนั้น มองว่านายโอบามาสอบผ่านการโต้วาทีครั้งแรก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญก็มองว่านายโอบามาน่าจะเป็นฝ่ายชนะคะแนนจากการที่ยืนหยัดในจุดยืนของตน
โดยหลังเสร็จสิ้นการดีเบต ซีเอ็นเอ็น ได้โทรศัพท์สอบถามความคิดเห็นชาวอเมริกันที่ชมการถ่ายทอดสดราว 500 คน พบว่า 51% ให้โอบามาเป็นฝ่ายชนะการดีเบตหนนี้ มีเพียง 38% เท่านั้นที่เห็นว่า แมคเคนเหนือกว่า และถ้าแยกเป็นหัวข้อ ปรากฏว่าความนิยมชมชอบในตัวโอบามายิ่งนำห่างมากขึ้นไปอีกในประเด็นเศรษฐกิจเป็น 58-37 ในส่วนของประเด็นสงครามอิรัก ผลก็ยังคงออกมาว่าโอบาเป็นฝ่ายชนะ 52-47 ส่วนโพลล์ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส พบว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ให้โอบามาชนะ 39% อีก 37% ให้เสมอกัน มีเพียง 24% ที่ถือหางแมคเคน
เหลือเวลาอีกเดือนเศษๆ ชาวอเมริกันก็จะได้รู้แล้วว่า ผู้สมัครคนใดจะสามารถฝ่าด่านอรหันต์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐได้ ซึ่งในช่วงเวลาที่เหลือนี้ ทั้งโอบามาและแมคเคน ยังมีภารกิจสำคัญที่จะโน้มน้าวเอาชนะใจพี่น้องร่วมชาติในการดีเบตอีกสองครั้ง คือ ที่มหาวิทยาลัยเบลมอนท์ รัฐเทนเนสซี ในวันที่ 7 ตุลาคม ส่วนดีเบตครั้งที่สามจะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮอฟสตรา รัฐนิวยอร์ก ในวันที่ 15 ตุลาคม
ปิดท้ายด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับธรรมเนียมการการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นสีสันหนึ่งของการเลือกตั้งที่ยึดถือปฏิบัติกันเรื่อยมาเกือบ 50 ปี ตั้งแต่สมัยวุฒิสมาชิก จอห์น เอฟ เคนเนดี้ จากพรรคเดโมแครต และประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในนามพรรครีพับลิกัน เมื่อปี 1960 หลังจากนั้น ศึกดีเบตชิงตำแหน่งผู้นำทำเนียบขาวก็ห่างหายไป จนกระทั่งในการเลือกตั้งปี 1976 ระหว่างจิมมี คาร์เตอร์ แห่งพรรคเดโมแครต และประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด แห่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้ตกลงโต้วาทีกัน 3 ครั้ง ตลอดจนจัดให้มีการดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย ซึ่งรูปแบบการดีเบตในครั้งนั้น ได้กลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับการโต้วาทีของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับการโต้วาทีที่เป็นที่จดจำได้มากที่สุดครั้งหนึ่งคือการดีเบตในปี 1980 ระหว่าง โรนัลด์ เรแกน ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งรีพับลิกันส่งลงสนามท้าชิงกับประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ แชมป์เก่าจากพรรคเดโมแครต โดยในครั้งนั้น เรแกน สามารถชนะใจชาวอเมริกันจนสามารถผงาดขึ้นครองบัลลังก์ผู้นำแห่งทำเนียบขาวคนที่ 40 ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นความได้เปรียบเรื่องบุคลิกรูปร่างหน้าตาในฐานะอดีตดาราภาพยนตร์แล้ว เรแกน ยังมีวิธีพูดที่สนุกสนานเร้าใจกว่าปธน.คาร์เตอร์ และที่ลืมไม่ได้ก็เห็นจะเป็นประโยคคำถามที่เรียบง่าย แต่สะดุดใจผู้ชมผู้ฟังทั่วประเทศที่ว่า "Are you better off than you were four years ago?" (คาร์เตอร์ในวันนี้มีดีกว่าคาร์เตอร์เมื่อ 4 ปีก่อนหรือไม่) ซึ่งใบหน้าที่เคร่งขรึมของปธน.คาร์เตอร์ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงคำตอบในใจของชาวอเมริกันในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี
ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในค.ศ.นี้นั้น เห็นที่จะต้องบอกว่า to be continued…

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ