กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการสร้างความสมานฉันท์ พร้อมทั้งคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.3) แต่เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อไปอีก 3 ปี และตั้งกรรมการอิสระพิเศษขึ้นมาปฏิรูปการเมือง
แถลงการณ์ระบุว่า การที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เจรจากับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อสร้างความสมานฉันท์ แต่กลับมีการจับกุมตัวนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นเสมือนการล้มโต๊ะการเจรจา และทำให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นอีกครั้ง
และการที่รัฐบาลตั้งข้อหากบฏกับ 9 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นข้อหาที่รุนแรงและเป็นปฏิบัติการเพื่อสนองแนวทางของฝ่ายการเมืองที่ก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการเผชิญหน้า
นอกจากนี้ กลุ่ม ส.ว.ขอคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 อย่างแข็งขัน ทั้งแนวทางการตั้ง ส.ส.ร.3 และการนำร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ(คปพร.) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
เนื่องจากปัญหาของประเทศมีขอบเขตกว้างขวางทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองต้องเป็นไปในมิติกว้าง จึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระพิเศษ และเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ที่เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปอีก 3 ปี อีกทั้งรัฐบาลควรลดเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรง และหากเกิดเหตุอะไรขึ้น รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ
"รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการสร้างความปรองดอง ไม่ใช่ใช้มือขวาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ แต่มือซ้ายกลับทำให้เกิดความแตกแยก" นายตวง กล่าว
ขณะนี้รัฐบาลพยายามทำ 2 อย่าง คือ การแก้มาตรา 291 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ก็ซ้ำเติมโดยการนำร่างรัฐธรรมนูญของ คปพร.เข้าสู่สภา ซึ่งเป็นการสร้างความแตกแยกให้กระบวนการรัฐสภา
"ผมอยากเรียกร้องให้รัฐบาลคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ รัฐบาลไม่สามารถกำหนดสถานการณ์ได้ และไม่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่รุนแรง" นายตวง กล่าว
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ขณะนี้ดูเหมือนว่าสังคมจะยอมรับให้มี ส.ส.ร.3 แต่เมื่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรจุร่างรัฐธรรมนูญของ คปพร.เข้าสู่การพิจารณาของสภา ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเกมทางการเมือง เพื่อปลดล็อกคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งสอดคล้องกับจดหมายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุไว้ว่าปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณต้องแก้ด้วยการเมือง
"การแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นการแก้ปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ และทำให้ปัญหาลุกลาม" น.ส.รสนา กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--