นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน(พปช.) ซึ่งร่วมเป็นคณะทำงานของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงปฏิเสธข่าว พล.อ.ชวลิต เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา
"มั่นใจว่าท่านได้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยความมีสติรอบคอบ ยึดสันติวิธี เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เรื่องนี้...แต่ผมเห็นว่าการรอเวลาพิสูจน์หรือรอผลสอบของคณะกรรมการฯ กว่าที่สังคมจะรับรู้ข้อมูลก็ทำให้คนดีได้รับความเสียหายไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมาแถลง" นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต ยืนยันว่าอยู่กับ พล.อ.ชวลิต ตลอดคืนวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 21.00 น.ที่ทำเนียบชั่วคราวดอนเมือง จนถึงเวลา 24.00 น.จากนั้นจึงเดินทางไปที่ บชน. และอยู่ต่อจนถึงเวลา 02.00 น. เพราะฉะนั้นจึงรู้ดีว่าพล.อ.ชวลิตได้เสนอการแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักสันติวิธี โดยให้จัดกำลังตำรวจจำนวน 3-4 กองร้อย รักษาสถานที่ราชการ คือ รัฐสภา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สิน
และย้ายสถานที่ประชุมรัฐสภาไปเป็นที่อื่นแทน เช่น หอประชุมกองทัพไทย ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งกรณีนี้มีรัฐมนตรีหลายคนได้อภิปรายสนับสนุน โดยอ้างเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 รวมถึงนายกฯ ก็ได้อภิปรายสนับสนุน โดยมีการเสนอสถานที่เพิ่มเติม เช่น หอประชุมกานตรัตน์ หอประชุมกองทัพเรือ
แต่ในขณะเดียวกันก็มีรัฐมนตรีหลายคนอภิปรายไม่เห็นด้วย โดยยกเหตุผลว่ารัฐบาลถูกยึดทำเนียบรัฐบาลไปแล้ว หากมีการยึดรัฐสภาอีก บ้านเมืองก็ไม่มีขื่อแป
นายชวลิต กล่าวว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกฯ ได้โทรศัพท์สอบถามไปยังนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อหารือถึงการย้ายสถานที่ประชุม แต่ประธานรัฐสภายืนยันสถานที่การประชุมและวันเวลาที่กำหนดไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลง โดยระบุเหตุผลว่าสภามีไว้สำหรับประชุมสภา ไม่ต้องการเร่ร่อนเหมือนรัฐบาล
ต่อมามีรัฐมนตรีท่านหนึ่งได้อภิปรายว่าการกำหนดระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา คือ วันเวลาและสถานที่ประชุมเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติ ส่วนรัฐบาลเป็นอำนาจบริหาร ต้องดำเนินการตามความเห็นของประธานรัฐสภา
จากนั้นที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามความเห็นประธานรัฐสภา และมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต เป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งหลังจากนั้นท่านได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้นโยบายแก่ตำรวจที่ บชน. โดยมอบนโยบายดังนี้ คือ 1.ให้ใช้การเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยความละมุนละม่อม เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาสามารถเดินทางเข้าไปประชุมรัฐสภาได้ตามกำหนด 2.หากไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายได้ก็ขอให้ยุติไว้ก่อน
นายชวลิต กล่าวต่อว่า หลังจากเกิดเหตุปะทะเมื่อเวลา 06.20 น.ของวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต พล.อ.ชวลิต ได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่รู้สึกหนักต่อการให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยยืนยันได้ว่า พล.อ.ชวลิต ได้มอบนโยบายไม่ให้ใช้กำลัง แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--