นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการดำเนินการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีมติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยให้มี ส.ส.ร.3 ประมาณ 100 คน, ส่วนคุณสมบัติของ ส.ส.ร.3 ให้ยึดแบบปี 40 ส่วนที่มาของ ส.ส.ร.3 ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป เพียงแต่เบื้องต้นต้องการให้มาจากหลากหลายอาชีพ และมีความเป็นกลางมากที่สุด
ทั้งนี้ อำนาจของ ส.ส.ร.3 คือการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 240 วัน หรือ 8 เดือน จากนั้นจะอนุมัติให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากรัฐสภาเห็นชอบก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทันที แต่ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบก็จะต้องเปิดให้มีการทำประชามติ
นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ที่มาของ ส.ส.ร.3 มีผู้เสนอไว้ 3 แนวทาง คือ แนวทางแรกนายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย เสนอให้ส.ส.ร.มี 100 คน มาจากตัวแทนสภาพัฒนาการเมือง 40 คน คือ ในสัดส่วนของตัวแทนจังหวัด 76 จังหวัดแล้วให้เลือกกันเองเหลือครึ่งหนึ่งคือ 38 คน ส่วนนายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาฯ และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสภาฯ ให้เป็นโดยตำแหน่ง
ส่วนที่เหลือมาจากกลุ่มคน 5 กลุ่มๆ ละ 12 คน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน, ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, ผู้มีประสบการณ์การเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน, ตัวแทนจากสถาบันการศึกษา และกลุ่มวิชาชีพ
แนวทางที่สอง นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา เสนอให้มี ส.ส.ร. 99 คน มาจากสภาพัฒนาการเมืองและผู้ทรงคุณวุฒิอาชีพต่างๆ
ส่วนแนวทางที่ 3 ของ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย เสนอว่า ส.ส.ร.ควรมาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งที่ประชุมจะสรุปหาแนวทางของที่มา ส.ส.ร.ในวันพรุ่งนี้(17 ตค.) เวลา 14.00 น.
นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ผลการประชุมวันนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุม 4 ฝ่ายในช่วงเช้าของวันที่ 20 ต.ค.ก่อนส่งให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ประธานวิปรัฐบาล และวุฒิสภาต่อไป ทั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ได้ในวันที่ 15 พ.ย.51 เพื่อให้สภาญพิจารณาและรับหลักการต่อไป
ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมประชุมด้วยนั้นถือว่ามีความชอบธรรมที่จะสละสิทธิ ในขณะที่ 6 พรรคร่วมรัฐบาลก็มีสิทธิจะดำเนินการต่อ โดยยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้ไม่มีใครดันทุรังเพราะเป็นการทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การจัดฉากหรือสร้างฉากแต่อย่างใด