(เพิ่มเติม) ผบ.ทบ.มองว่ารัฐบาลต้องยุบสภาหรือลาออก หากพบผิดจริงกรณีสลายม็อบ

ข่าวการเมือง Thursday October 16, 2008 18:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องใช้แนวทางการยุบสภาหรือลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบหากมีผลการตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ชี้ชัดออกมาว่าความผิดตกอยู่กับรัฐบาล แต่คงจะไม่ออกมากดดัน เพราะเชื่อว่ากระแสสังคมคงจะต้องเรียกร้องให้รัฐบาลทำเช่นนั้นอยู่แล้ว

"คิดครับ"ผบ.ทบ.ตอบคำถามที่ว่าคิดถึงขั้นว่ารัฐบาลควรจะยุบสภาหรือลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบหรือไม่

"ถ้ารัฐบาลสั่งเองเต็มๆ จากการสอบสวนแล้วต้องรับผิดชอบ กระแสคนในชาติคงไม่ยอม ถ้าไม่ยอมคงปั่นป่วนไม่จบ ผมคิดว่าคงต้องเป็นเช่นนั้น(รัฐบาลลาออกหรือยุบสภา)ไม่ได้บีบคั้นให้ออก แต่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ เพราะจะอยู่บนกองเลือดไม่ได้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนถ้าอยู่บนความเสียหายของประเทศชาติและประชาชนล้มตาย ก็รับไม่ได้ อยู่อย่างไรก็อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่รัฐบาลนี้รัฐบาลเดียว เราไม่ได้จงเกลียดจงชัง ผมพูดด้วยเหตุด้วยผลของสิ่งที่จะเป็นไป" พล.อ.อนุพงษ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์เย็นนี้

พร้อมระบุว่า หากเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะขอแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการลาออก เนื่องจากเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรถ้าจะนั่งอยู่ในตำแหน่งต่อไปท่ามกลางความเสียหายของบ้านเมือง

ทั้งนี้เรื่องความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปฐม แต่สิ่งที่ตามมาคือคนในสังคมรับไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากเกิดเป็นกระแสขึ้นลุกลามไปยังสถาบันตำรวจ หมอ ดังนั้นเหตุการณ์ความขัดแย้งจะจบได้ต้องมีคนรับผิดชอบทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ ต้องสอบสวนไปตามเหตุผล กฎหมาย หลักการ ถึงจะสร้างความพึงพอใจกับประชาชนได้

"ถ้าเป็นนายกฯ ผมก็ออก ไม่อยู่หรอก จะอยู่ทำไม บ้านเมืองเสียหายจะอยู่ทำไม...ถามว่ากดดันหรือไม่คงไม่ใช่ แต่เมื่อผลสอบสวนออกมา สังคมจะทำเอง ผมไม่ทราบว่านี่เป็นการกดดันหรือไม่ แต่เรียกร้องว่าสังคมรับไม่ได้ มันไม่มีทางจบลงได้ ผมเรียกร้อง สังคมก็เรียกร้อง" ผบ.ทบ.กล่าว

พล.อ.อนุพงษ์ เห็นว่า ถ้าประเทศชาติยังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองก็จะจบลงไม่ได้ อาจถึงขั้นล่มจมหนทางออก แต่คนไทยควรต้องอยู่ร่วมกันในความเห็นที่แตกต่างกันได้ เพียงแต่ต้องมีจุดที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นร่วมกันได้

ส่วนการที่จะให้ทหารออกมายุติปัญหาด้วยการปฏิวัตินั้น ถ้าปฏิวัติแล้วปัญหาทุกอย่างจบลงได้ก็น่าจะทำ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นเพราะทุกฝ่ายต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่าจะยิ่งเกิดความสูญเสียต่อประเทศชาติมากขึ้น ดังนั้นทางออกคือทั้ง 2 ฝ่ายต้องพูดคุยกันและหาจุดร่วมให้ได้ แต่กองทัพคงไม่สามารถจะเลือกฝ่ายได้ เพราะเราแบ่งประเทศชาติเป็นฝ่ายไม่ได้

"ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดจะปฏิวัติ เหล่าทัพก็ไม่เห็นด้วย สังคมไม่ว่าจะเป็นสื่อ นักวิชาการ ก็ไม่เห็นด้วย แต่ถ้านองเลือดเป็นกลียุคทหารเข้าไปจัดการก็ไม่เรียกว่าปฏิวัติ แต่เป็นการหยุดการใช้อำนาจ ไม่ใช่ปฏิวัติ"พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

สำหรับเหตุการณ์ตำรวจสลายม็อบวันที่ 7 ต.ค.51 นั้น ยืนยันว่า ทหารไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะแม้จะได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีว่าให้ไปพูดคุยกับตำรวจเพื่อเปิดทางให้ ส.ส.เข้าไปประชุมสภาฯ ได้ แต่ทหารก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร อย่างไรก็ดีถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ทหารคงจะออกไปห้ามปรามตั้งแต่แรก เพื่อไม่ต้องการเห็นความสูญเสีย

"ท่านนายกฯ บอกให้ผมคุยกับตำรวจ แต่ผมไม่ได้คิดจะทำอะไร ผมคุยแล้วท่านพูดว่าให้ดูแลเพื่อให้ส.ส.เข้าประชุมสภาฯ ได้...กองทัพอยู่กับประชาชน ถึงให้อำนาจมาเต็มๆ เราก็ยังไม่ทำ" ผบ.ทบ.กล่าว

ผบ.ทบ.ยังกล่าวถึงบทบาทของกองทัพในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ว่า ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ หรือคนไทยทั้งชาติทุกคนต้องมีความเห็นเช่นเดียวกัน ผมมั่นใจว่าเราเทิดทูนและเคารพสถาบันที่เป็นสิ่งที่ทำให้ชาติไทยอยู่มาได้ ผมจะปกป้องและเทิดทูนสถาบันฯยิ่งชีวิต ทหารและครอบครัวทุกคนก็รู้สึกเช่นเดียวกันเหมือนคนไทยทุกคน

กรณีที่ขณะนี้มีหลายฝ่ายอ้างอิงสถาบันฯนั้น อยากบอกประชาชนทุกคนว่าคนที่จะถวายความจงรักภักดีว่าต้องไม่ดึงสถาบันฯมาอ้าง ทั้งเงื่อนไขความขัดแย้งและเงื่อนไขทางการเมือง เพราะพระองค์ท่านฯ ทรงอยู่ตรงกลางประชาชนทั้ง 63 ล้านคนไม่ได้อยู่ซีกใดซีกหนึ่ง

"ถ้ามีการจาบจ้วงหรือหมิ่นเหม่ กองทัพจะไม่ปล่อยไว้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด"พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ