เอแบคโพลล์ชี้สาธารณชนเครียดหนักเหตุสลายม็อบ อยากเห็นคนไทยรักกัน

ข่าวการเมือง Friday October 17, 2008 09:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอแบคโพลล์ เผยหลังเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายม็อบเมื่อวันที่ 7 ต.ค.สาธารณชนอยากเห็นคนไทยรักและสามัคคีกัน และเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะกลายสภาพเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน อีกทั้งรู้สึกเครียดต่อสถานการณ์ทางการเมือง

"ผลสำรวจล่าสุดยังคงพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.3 อยากเห็นคนไทยรักและสามัคคีกัน แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.6 ยังคงกังวลว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสภาพบ้านป่าเมืองเถื่อน นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.7 ยังคงเครียดต่อเรื่องการเมือง และที่น่าเป็นห่วงคือ เกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 52.9 มีความเคลือบแคลงสงสัยต่อท่าทีของรัฐบาลในการปราบปรามม็อบวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุในเอกสารเผยแพร่

สำหรับทางออกของสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.9 ระบุให้ยึดมั่นกระบวนการยุติธรรม หาคนผิดในการสลายการชุมนุมมาลงโทษ นอกจากนี้ร้อยละ 72.2 ให้หาคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดการการเลือกตั้งใหม่ที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม, ร้อยละ 63.4 ให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติมีคนกลางเป็นนายกรัฐมนตรี และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.5 ระบุการเมืองใหม่ การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง เป็นทางออกของสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน, ร้อยละ 61.5 ระบุการเลือกตั้งใหม่เป็นทางออก ขณะที่ร้อยละ 57.5 ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่(ส.ส.ร.3)

เมื่อถามถึงคุณธรรมที่แกนนำของกลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ควรแสดงออกในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 49.1 คือความเสียสละ รองลงมาคือร้อยละ 47.8 ระบุว่าเป็นสติสัมปชัญญะ, ร้อยละ 47.4 จริยธรรมทางการเมือง, ร้อยละ 46.7 การให้อภัย, ร้อยละ 46.1 ความรับผิดชอบ, ร้อยละ 37.7 ความอดทนอดกลั้น, ร้อยละ 34.6 ความมีวินัย และร้อยละ 32.9 ความรักชาติ

ส่วนความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อเหตุการณ์สลายม็อบที่ผ่านมา พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 51.2 ให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวออกจากการเป็นรัฐบาล รองลงมาคือ ร้อยละ 33.5 ให้รับผิดชอบต่อผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทุกฝ่าย อันดับต่อไปหรือร้อยละ 30.1 ให้ลาออกหรือยุบสภา และร้อยละ 25.5 ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายหาคนผิดมาลงโทษ มีเพียงร้อยละ 11.1 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

อนึ่ง สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 5,598 ตัวอย่าง ในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ