วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งขึ้นปกครองรัสเซียในปี พ.ศ.2543 เคยประกาศว่าจะทำลายระบอบคณาธิปไตยในประเทศให้หมดสิ้นไป โดยในเวลาเพียง 2 ปีเขาสามารถเนรเทศผู้มีอำนาจได้ 2 คน และจำคุกอีก 1 คน และตอนนี้ เขาอาจเปลี่ยนวิกฤตการเงินโลกเป็นโอกาสในการทำลายล้างระบอบดังกล่าวแบบถอนรากถอนโคน
โดยการที่นายกรัฐมนตรีปูตินและประธานาธิบดีดิมิทรี เมดเวเดฟ มีแผนให้ภาคเอกชนกู้ยืมเงินกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์จะยิ่งทำให้รัฐบาลรัสเซียมีอำนาจควบคุมธุรกิจต่างๆมากขึ้น ทำให้แต่ละบริษัทต้องขอความเห็นของรัฐบาลก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการทางธุรกิจใดๆก็ตาม
"แผนดังกล่าวจะทำให้รัฐมีอำนาจในการควบคุมบริษัทขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมหลักมากมาย" คริส วีฟเฟอร์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์จาก UralSib Financial Corp. กล่าว "ในปัจจุบัน ระบอบคณาธิปไตยตกอยู่ในมือของรัฐบาลแล้ว"
สถานการณ์ดังกล่าวตรงข้ามกับเมื่อ 10 ปีก่อนโดยสิ้นเชิง ซึ่งตอนนั้นอำนาจทางการเงินของประเทศอยู่ในมือของผู้มีฐานะเพียงกลุ่มเดียว โดยผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในรัสเซีย 100 คนมีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ
แต่ปัจจุบันทรัพย์สินของนักธุรกิจที่รวยที่สุดในประเทศ 25 คนลดลงถึง 62% หรือ 2.3 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่ปูตินเป็นผู้ควบคุมเงินสำรองของรัฐบาลทั้งหมด 5.31 แสนล้านดอลลาร์ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน