พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มเสียงแตกเตรียมจับมือ ส.ว.อิสระ ค้านแนวคิดของพรรคพลังประชาชนในการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.3) เตรียมเสนอที่ประชุมหัวหน้าพรรคร่วม 5 พ.ย.ชะลอออกไปก่อน เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นการจุดชนวนทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง
"หากจะแก้ไขเรื่องนโยบาย ผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนหรือเพื่อตัวเองอาจจะเกิดปัญหาเดือดร้อนได้ จะต้องคิดให้หนัก ซึ่งผมอาจจะเสนอให้ในที่ประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองให้ชะลอการแก้ไขช่วงนี้ออกไปก่อน" พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรคร่วมใจไทยชาติพัฒนา(รช.) กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวันที่ 5 พ.ย.นี้
พัวหน้าพรรค รช.กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไขในสถานการณ์เช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ต้องคิดให้มากและรอบคอบ เพราะหากแก้ไขเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งของ ส.ส.จากเขตใหญ่มาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ตนเองก็เห็นด้วยเพราะที่ผ่านมา ส.ส.หาเสียงยากลำบาก
ด้าน นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคมัชฌิมาธิปไตย ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การที่วิปรัฐบาลให้แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลและวิปวุฒิสภากลับไปแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งส.ส.ร.ก่อนนำผลมาประชุมร่วมอีกครั้งในวันที่ 3 พ.ย.ปรากฎว่าจากการพูดคุยกับชาวบ้าน และพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นให้รัฐบาลชะลอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นชนวนทำให้บ้านเมืองแตกแยก ขณะที่รัฐบาลควรจะมุ่งหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นอันดับแรก
"หากทางพรรคจะขอรายชื่อเพื่อสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับ เพราะเห็นว่ามีปัญหา 2 มาตรา คือ มาตรา 190 เรื่องรัฐบาลลงนามสัญญาระหว่างประเทศ และ มาตรา 266 ว่า ส.ส.ห้ามยุ่งเกี่ยวกับข้าราชการ ส่วนมาตราอื่นยังไม่เป็นปัญหาหากจะมีการแก้ไขก็อาจจะทำเพื่อตัวเอง แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าหัวหน้าพรรคฯ(นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน) จะมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร" นายเกียรติกร กล่าว
ขณะที่ นพ.อลงกต มณีกาศ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อแผ่นดิน(พผ.) ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ในสถานการณ์นี้ที่บ้านเมืองเกิดความแตกแยกรุนแรง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งอาจจะเป็นชนวนทำให้บ้านเมืองมีปัญหามากขึ้น ดังนั้นหากจะแก้ไขควรจะรอให้อะไรที่กลุ่มพันธมิตรฯ คิดว่าแก้เพื่อตัวเอง หรือมีอะไรแอบแฝงผ่านไปก่อนแล้วจึงดำเนินการ
"หากทางพรรคมาขอรายชื่อเพื่อแก้ไขในช่วงนี้ จะไม่เซ็นชื่อแน่นอน แต่ไม่ทราบว่า ส.ส.ในพรรคคนอื่นมีความคิดเห็นอย่างไร" นพ.อลงกต กล่าว
ส่วน นายวิทยา อินนาลา ส.ว.นครพนม เลขาธิการวิปวุฒิสภา กล่าวว่า หากรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองก็ไม่เห็นด้วยและจะไม่ลงชื่อสนับสนุนแน่นอน หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงบ้านเมืองเกิดความแตกแยกก็อยากเสนอให้ชะลอออกไปก่อน แต่เชื่อว่าทุกสิ่งอยู่ที่รัฐบาล
ขณะที่การเข้าชื่อของ ส.ว.เพื่อขอให้มีการแก้ไขมาตรา 291 ถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน ซึ่งขณะนี้รับทราบว่า กลุ่มของนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และนายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อไว้เตรียมพร้อมแล้วราว 40 คน