พปช.ลงมติหนุนแก้รธน.291 แต่ชะลอดันเข้าสภาฯ ภายในสมัยประชุมนี้

ข่าวการเมือง Tuesday November 4, 2008 18:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รักษาการรองโฆษกพรรคพลังประชาชน(พปช.) เปิดเผยว่า ที่ประชมพรรคฯ มีมติเห็นชอบตามที่รัฐบาลเสนอในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.3) ตามที่ได้ยกร่างแก้ไขเสร็จแล้ว ซึ่งสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้ตั้ง ส.ส.ร.เพื่อไปร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น

โดย ส.ส.ร.จะมีจำนวน 120 คน มาจาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มตัวแทนประชาชนแต่ละจังหวัด 76 คน จากการเลือกกันเองทางอ้อมโดยมอบให้ กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง, กลุ่มตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ 24 คน แบ่งเป็นด้านนิติศาสตร์ 8 คน ด้านรัฐศาสตร์ 8 คน และด้านการเมืองการปกครอง 8 คน และกลุ่มตัวแทนสาขาอาชีพ 20 คน

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้จะสรรหา ส.ส.ร.โดยใช้เวลา 60 วัน และขั้นตอนในการยกร่างจะใช้เวลา 180 วัน ซึ่งหลังยกร่างเสร็จจะส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น โดยถ้าเห็นชอบก็สามารถประกาศใช้ได้ แต่ถ้าไม่เห็นชอบก็จะส่งให้ประชาชนลงประชามติต่อไป

นายบุญจง กล่าวว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 แต่เห็นควรจะหารือกับกับพรรคร่วมรัฐบาลและหลายฝ่ายก่อนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ รวมถึงมีข้อเสนอให้ตั้งทีมประชาสัมพันธ์และให้ ส.ส.ของพรรคไปทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการแก้ไขดังกล่าวทำเพื่อแก้ปัญหาของชาติ เพราะที่ผ่านมามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและ ส.ว.บางส่วนที่คัดค้านโดยเห็นว่ารัฐบาลทำเพื่อหนีคดียุบพรรคหรือช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ขั้นตอนต่อไปหลังจากพรรคมีมติเห็นชอบแล้ว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคฯ จะนำไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ส่วนจะยื่นเข้าสู่รัฐสภาเมื่อใดนั้นยังไม่กำหนด โดยต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อหารือทุกฝ่ายให้รอบคอบก่อน

"ไม่จำเป็นจะต้องยื่นให้ทันในสมัยประชุมนี้ที่จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 พ.ย. หรือหากพร้อมอาจยื่นขอเปิดสมัยวิสามัญพิจารณาก็ได้ ไม่เสียหายอะไร แล้วแต่ต้องดูความเหมาะสม" นายบุญจง ระบุ

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมพรรคฯ ไม่มีการหารือหรือหยิบยก กรณีที่ ส.ส.ของพรรคจะล่ารายชื่อเพื่อถวายฎีกาช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ ส.ส.บางคนและจะต้องดูข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ