IN FOCUS: "CHANGE"...คำตอบสุดท้ายของสหรัฐอเมริกา สู่ปรากฏการณ์พลิกโฉมหน้าพญาอินทรี

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 6, 2008 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาพของนายบารัค โอบามา ที่ปรากฏตัวบนเวทีปราศรัยหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งประวัติศาสตร์ท่ามกลางเสียงโห่ร้องกึกก้องแสดงความยินดีของฝูงชนกว่าแสนชีวิต ณ สวนสาธารณะ แกรนท์ พาร์ค เมืองชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนผ่านมา คือภาพสะท้อนของ “การเปลี่ยนแปลง" ที่ถือกำเนิดขึ้นแล้วในแผ่นดินอเมริกา สมดังจุดยืนการหาเสียงของเขาที่ว่า “CHANGE"

ทุกครั้งที่เหตุการณ์สำคัญเปลี่ยนแปลงไป ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ย่อมถูกจารึกไว้เสมอ และศึกชิงบัลลังก์ทำเนียบขาวในครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่ออภิมหาอำนาจของโลกได้นายบารัค โอบามา วุฒิสมาชิกพรรคอิลินอยส์วัย 47 ปี จากพรรคเดโมแครตมาเป็นผู้นำประเทศ บุรุษหนุ่มนายนี้จะไม่เพียงแต่เป็นผู้บัญชาปีกพญาอินทรีให้โบยบินท่ามกลางผืนฟ้าอันกว้างใหญ่เท่านั้น แต่เขายังทำให้ประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกาต้องเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากมายหลายมิติ

*บารัค โอบามา...ประธานาธิบดีผิวสี ของ ชาวอเมริกันทุกสีผิว

ทันทีที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Elecroral Vote ของนายโอบามาที่ได้เกินกว่า 270 คะแนน ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ก็ได้ถูกบันทึกไว้พร้อมกับนิมิตรหมายของการทลายกำแพงแห่งสีผิวที่เคยตั้งตระหง่านมายาวนานในสหรัฐ และนี่คือบันไดขั้นสูงสุดที่โอบามาสามารถก้าวขึ้นมาจนกลายเป็นประมุขสูงสุดของทำเนียบขาวลำดับที่ 44 และเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐ

ผลการรวบรวมตัวเลขคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งชี้ว่านายบารัค โอบามา ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 349 คะแนน ขณะที่คู่แข่งอย่างนายจอห์น แมคเคน ผู้แทนจากพรรครีพับลิกันได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไป 163 คะแนน

หากย้อนดูภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐนั้นเป็นที่รู้กันดีว่า ประชากรเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน หรือคนผิวสีหลายล้านคนที่ครองสัดส่วน 13% ของจำนวนประชากรปัจจุบันเคยมีสถานะเป็นแรงงานทาสที่ต้องกัดฟันต่อสู้กับระบบการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกามาอย่างหนักหน่วง จากกลุ่มคนที่ถูกเหยียดหยามและโดนลิดรอนสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งเมื่อครั้งอดีต จนกลายเป็นที่มาของขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ภายใต้การนำของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มาวันนี้ พวกเขาไม่เพียงมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกับพลเมืองทั่วไป แต่ยังเป็นดั่งฟันเฟืองน้อยที่คอยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

และหากถอยกลับไปดูความเคลื่อนไหวในช่วง 21 เดือนก่อนการเลือกตั้งจะเห็นว่าบารัค โอบามา เผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ใช้แค่เรื่องสีผิว โดยกูรูการเมืองจำนวนไม่น้อยต่างปรามาสว่า เขาเป็นหนุ่มไฟแรงแต่ไร้ประสบการณ์ ขณะที่ประเด็นเชื้อชาติอาจทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยต่อความรักในผืนแผ่นดิน ทว่าชัยชนะจากการสมรภูมิเลือกตั้งครั้งนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หลากหลายคำครหาที่กล่าวอ้างมา...หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

เพราะท้ายที่สุดแล้ว "นโยบาย" คือแก่นแท้ที่ชาวอเมริกันให้ความสำคัญมากกว่าเปลือกนอกที่ฉาบไว้เพียงคำว่า "เชื้อชาติ" และ "สีผิว"

*มิเชล โอบามา...สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา

ทันทีที่นายบารัค โอบามาได้รับชัยชนะบนสังเวียนเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลข 1 ก็ตกเป็นของนางมิเชล โอบามาไปโดยปริยาย แม้ดูผิวเผินแล้วอาจมองไม่เห็นถึงบทบาททางการเมืองของเธอมากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสตรีนางนี้คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนายบารัค โอบามาอย่างแท้จริง

มิเชล โอบามา หรือ อดีตคือมิเชล โรบินสัน เป็นผู้หญิงฉลาดที่คอการเมืองสังเกตว่า เธอคือผู้ที่หลอมรวมอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐทั้ง 3 นางในร่างเดียว กล่าวคือ มิเชลมีบุคลิกที่สุขุม เยือกเย็นเช่นแจกเกอรีน เคนเนดี้ ฉลาดล้ำคล้ายฮิลลารี คลินตัน และมีเสน่ห์เรียบง่ายแต่ดึงดูดใจคล้ายลอร่า บุช แต่สำหรับสายตาของโอบามาแล้ว มิเชลเปรียบดั่งเข็มทิศที่ช่วยชี้ชะตาชีวิตให้เขาสามารถประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเมืองมาโดยตลอด ยิ่งไปกว่านั้นมิเชลยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยพยุงปีกของโอบามาให้เฉิดฉายความโดดเด่นในฐานะว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเต็มภาคภูมิ

เหนือสิ่งอื่นใด โอบามาได้รับแรงบันดาลใจจากมิเชลที่ย้ำเสมอว่าเธอเชื่อว่า โอบามาจะเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ดินแดนเสรีภาพ นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ปรุงแต่งถ้อยคำของสุนทรพจน์อันเปี่ยมล้นด้วยวาทะศิลป์กินใจที่โอบามาใช้กล่าวปราศรัยในทุกๆเวที

*อเมริกันชนตื่นเต้น-ตื่นตัว...แห่ใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดในรอบ 48 ปี

ชาวอเมริกันต่างรู้สึกตื่นเต้นและตื่นตัวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในทุกมลรัฐ ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่า จำนวนผู้มาลงคะแนนเลือกตั้งตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้น่าจะมีจำนวนกว่า 130 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2503

ขณะที่อุปสรรคเรื่องสภาพอากาศที่เลวร้ายในบางรัฐก็ไม่อาจจำนนต่อเจตนารมณ์ของชาวเมืองลุงแซมที่ต้องการใช้หนึ่งคะแนนที่เท่ากับทุกคนมาเลือกประธานาธิบดีในดวงใจของพวกเขา ส่วนเรื่องของปัญหาจากระบบการลงคะแนนเสียงก็ดูจะไม่ใช่อุปสรรคหนักหนาที่จะสกัดกั้นความตั้งใจที่แน่วแน่ของชาวอเมริกันได้เลย

ลิซา ฟอร์แมน ชาวเมืองเซนต์ หลุยส์ รัฐมิสซูรีเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า คูหาเลือกตั้งที่เธอไปใช้สิทธินั้นมีปัญหา เนื่องจากเครื่องลงคะแนนเสียงทำงานผิดปกติเพราะมีแต่เชื่อจอห์น แมคเคนให้เลือกเท่านั้น ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ประจำคูหาต่างเร่งช่วยกันหาทางออกโดยเธอต้องรออยู่ที่คูหานานถึง 3 ชั่วโมงกว่าจะได้ใช้หนึ่งคะแนนเสียงที่มีอยู่เลือกผู้แทนไปได้ในที่สุด เช่นเดียวกับดาราดังที่เคยคว้ารางวัลออสการ์มาแล้วอย่างทิม ร็อบบินส์ เองก็เจอปัญหาหลังจากที่ชื่อของเขาหายไปจากรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในคูหาที่แมนฮัตตัน แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะมีชื่อในรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งขั้นต้นเมื่อ 2 เดือนที่แล้วก็ตาม และหลังจากที่เขาต้องรอนานถึง 5 ชั่วโมง สุดท้ายก็ได้ลงคะแนนเสียงตามสิทธิที่พึงมีในระบอบประชาธิปไตย

*เดโมแครตเรืองอำนาจ...รีพับลิกันเสื่อมความนิยม

เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง คือ ประโยคที่เหมาะสมกับการประเดิมคว้าชัยชนะอย่างใสสะอาดของโอบามา หลังปิดคูหาแรกที่เมืองดิกซ์วิลล์ นอทช์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ด้วยความที่รัฐแห่งนี้มีประชากรประมาณ 75 คนและเป็นเมืองแรกของสหรัฐที่เปิดคูหาให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิตั้งแต่นาทีแรกหลังเที่ยงคืน โดย 100% ของผู้มีสิทธิออกเสียง 21 คนนั้นต่างเทคะแนนให้โอบามาเอาชนะแมคเคนได้ 15-6 แต้ม สร้างประวัติศาสตร์การคว้าชัยชนะของพรรคเดโมเครตในเมืองนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี

ความรุ่งโรจน์ของพรรคเดโมแครตยิ่งส่องสว่างเรืองรองมากขึ้น เพราะนอกจากทางพรรคจะได้ผู้แทนขึ้นครองบัลลังก์ทำเนียบขาวแล้ว บรรดาสมัครชิงพรรคเดโมแครตก็สามารถกวาดเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากการรายงานของซีเอ็นเอ็นที่เกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้งแบบนาทีต่อนาทีระบุว่า ขณะนี้พรรคเดโมแครตมีเก้าอี้ในวุฒิสภา 56 ต่อ 40 ที่นั่ง จากทั้งหมด 100 ที่นั่ง และส่วนในสภาผู้แทนราษฎรก็พรรคเดโมเครตก็สามารถครองเก้าอี้ได้ 254 ที่นั่งต่อ 173 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1992 ที่สมาชิกพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งทั้งสภาคองเกรสและทำเนียบขาว

เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของพรรคเดโมแครตยอมรับว่า ท้ายสุดแล้วแม้พรรคเดโมแครตจะคว้าเก้าอี้วุฒิสมาชิกได้ไม่ถึง 60 ที่นั่งอย่างที่หวังไว้ แต่เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการผลักดันร่างกฎหมายสำคัญในสภาคองเกรส เพราะทางพรรคอาจสามารถโน้มน้าววุฒิสมาชิกสายกลางในพรรครีพับลิกันเพื่อขอความร่วมมือในการผ่านมาตรการสำคัญ เช่น นโยบายถอนทหารสหรัฐออกจากอิรัก และมาตรการยุติวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930

เซียนการเมืองหลายท่านมองว่า ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากพรรครีพับลิกันมาเป็นพรรคเดโมเครต คือ ความแตกต่างด้านนโยบายที่โอบามากล่าวมองว่า นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ได้เรื่องของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกันคือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐพังพินาศย่อยยับกว่าครั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) เสียอีก ในขณะเดียวกันการที่ประชาชนยังอกสั่นขวัญแขวนกับภัยก่อการร้ายและนโยบายสงครามอิรักที่บุชกำหนดไว้ กลับไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น มิหนำซ้ำยังทำให้หลายคนจงเกลียดจงชังสหรัฐอเมริกามากขึ้นทุกที ดังนั้น นโยบายเรื่องการยุติสงครามของบุรุษผิวสีผู้นี้จึงได้ใจอเมริกันชนไปเต็มๆ

บทสรุปแห่งชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้สามารถเรียกเสียงแซ่ซ้องแสดงความยินดีให้ก้องกังวานไปทั่วโลกพร้อมๆกับน้ำตาแห่งความตื้นตันใจที่หลายคนถึงสะกดกลั้นเอาไว้ไม่อยู่เมื่อว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐกล่าววาทะอันเฉียบคมว่า "ผลการเลือกตั้งวันนี้ คือ คำตอบที่แสดงให้โลกเห็นว่า สหรัฐไม่ได้แบ่งแยกออกเป็นรัฐสีแดง (รีพับลิกัน) หรือรัฐสีน้ำเงิน (เดโมแครต) แต่คนทุกคนมีส่วนร่วมสร้างประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวผ่านระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะคนหนุ่มสาว คนชรา คนรวย คนจน คนขาว คนดำ คนละติน คนเอเชีย ชนพื้นเมืองอเมริกัน กลุ่มคนเพศที่ 3 คนทั่วไป และคนทุพพลภาพ เพราะเราคือเรา และสหรัฐอเมริกาจะยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา และจะเป็นสหรัฐอเมริกาตลอดไป"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ