นายกล้านรงค์ จันทิก หนึ่งในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการฯ จะมีการลงมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 11 คนในคดีทุจริตจัดซื้อเรือ รถดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร(กทม.) มูลค่า 6,800 ล้านบาท หลังจากคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ที่มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน เสนอให้พิจารณา
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 11 คนในคดีนี้ ได้แก่ นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย, นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีตเลขานุการ รมว.มหาดไทย, นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้ว่าฯ กทม., พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันสาธารณภัย, นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม., คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัด กทม., นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์, นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ในฐานะอดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายมาริโอ มีน่าร์ ผู้แทนบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเซียลฟาย์ซอย์ เอจี แอนด์ โค เคจี และบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเซียลฟาย์ซอย์ เอจี แอนด์ โค เคจี ในฐานะคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า การชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าหาในคดีนี้จะพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยกรณีของนายอภิรักษ์ที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันอาจต้องตีความว่าหากชี้มูลว่านายอภิรักษ์มีความผิดจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เนื่องจากไม่เคยมีลักษณะเช่นนี้ปรากฏมาก่อน
"ในข้อเท็จจริงแล้วกฎหมายมีการเขียนระบุไว้แล้วเรื่องของการหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่กรณีนี้เกิดปัญหาขึ้นจึงต้องอยู่ที่การตีความและการวินิจฉัย ซึ่งก็ต้องดูว่าใครจะเป็นผู้วินิจฉัยข้อกฎหมายตรงนี้" นายกล้านรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ มีความเห็นว่านายอภิรักษ์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากการลงนามในข้อตกลงซึ่งมีผลผูกพันในการทำสัญญาที่มีมูลค่าถึง 6,687ล้านบาทได้กระทำไปโดยขัดมติคณะรัฐมนตรี เป็นกระทำไปโดยขาดความรอบคอบ ไม่ฟังข้อท้วงติงของฝ่ายต่างๆ
แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.กล่าวว่า หาก ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมากชี้ว่านายอภิรักษ์มีความผิดแต่ไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 55 ที่ประชุมฯ อาจส่งเรื่องให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ กทม.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
"กรณีนี้ถือว่ามีซับซ้อนกว่ากรณีของ 3 รัฐมนตรีที่เป็นจำเลยในคดีหวยบนดินอย่างมาก เพราะกระทำของนายอภิรักษ์เกิดขึ้นขณะที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยแรก เป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระโดยที่ปัจจุบันนายอภิรักษ์ไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.อาจตีความได้ว่ากฎหมายดังกล่าวไม่มีผลบังคับถึงในปัจจุบัน แต่กรณีนี้ปรากฎว่านายอภิรักษ์ยังคงดำรงตำแหน่งอีกหนึ่งสมัย ทำให้ต้องตีความว่าตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ของนายอภิรักษ์จะเข้าไปมีผลต่อคดีหรือไม่" แหล่งข่าว ระบุ