ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง ระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ไม่สามารถชี้ขาดลงไปได้ว่านายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.ต้องลาออกจากตำแหน่งหลังถูกชี้มูลความผิดอาญาหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจส่วนตัว
ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 55 ระบุให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ไม่ใช่การพ้นจากตำแหน่ง
"เราไม่อาจที่จะชี้ได้ เพราะเราไม่ใช่องค์กรชี้ขาดด้านกฎหมายว่ากฎหมายจะแปลความว่าอย่างไร แต่เรายึดถือตามมาตรา 55 บอกให้หยุด ก็สุดแล้วแต่ถ้าท่านมีสปิริตคิดว่าควรจะหยุด แต่ถ้าต้องการจะโต้แย้งก็ส่งเรื่องไป(ศาลรัฐธรรมนูญ)" นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวทางรายการวิทยุเช้านี้
ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า แม้ ป.ป.ช.จะลงมติชี้มูลความผิดแล้ว แต่ยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด เพราะเมื่อส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วอาจมีความเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ซึ่งต้องตั้งคณะทำงานร่วมฯ ก็ได้
"ที่เราชี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกต้อง พอถึงอัยการอาจจะบอกว่าพยานหลักฐานไม่พอต้องตั้งคณะทำงานร่วมอีก" นายวิชา กล่าว
ด้านนายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปกติแล้วเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที แต่ในกรณีนี้ตนเองยังไม่ทราบรายละเอียดจึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนได้
ขณะที่นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ภายในช่วงเที่ยงวันนี้น่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของนายอภิรักษ์ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป