วงเสวนานิด้าแนะทหารเข้มขึ้นแก้วิกฤติชาติ เตือนพร้อมรับมือความรุนแรง

ข่าวการเมือง Monday November 17, 2008 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์(นิด้า)กล่าวในเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อปฏิรูปสังคม ภายใต้เรื่องประชาธิปไตยในภาวะวิกฤตบทบาทกองทัพและประชาสังคมว่า วิกฤติของประเทศไทยขณะนี้มี 3 ประการ ได้แก่ วิกฤติการเมือง, วิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤติสังคม

ทั้งนี้ วิกฤติการเมืองเกิดจากความขัดแย้งจากรัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปช.) กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีจุดเริ่มต้นจากความต้องการที่รัฐบาลมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง

ตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจโลก อันจะส่งผลกระทบหลายสิ่งต่อประเทศไทยในปี 52 ทั้งปัญหาคนตกงาน กระทบภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจบริการต่างๆ รวมทั้งสินค้าเกษตรจะราคาตกต่ำ แม้รัฐบาลที่มีความเข้มแข็งยังไม่สามารถรับมือได้ ขณะที่รัฐบาลในขณะนี้แค่เอาตัวรอดได้ก็ยังยาก ดังนั้น เมื่อทั้ง 2 วิกฤติเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่จะตามมาคือวิกฤติสังคม

นายสมบัติ กล่าวว่า ขณะนี้โอกาสความขัดแย้งรุนแรงยังมีอยู่ และบทบาทของภาคประชาสังคมสามารถลดความรุนแรงได้ในรูปแบบเดียวกับกลุ่มสานเสวนาเพื่อสันติ แต่กลุ่มดังกล่าวยังไม่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าจะสานเรื่องอะไร ดังนั้น ภาคประชาสังคมจะต้องกำหนดจุดยืนที่ชัดเจนยึดถือความถูกต้อง และไม่ทำตัวอยู่ตรงกลางอย่างกลุ่มสานเสวนาเพื่อสันติ

ส่วนบทบาทของทหารจะต้องวางตัวพิทักษ์ประชาธิปไตย และต้องจัดการกลุ่มที่เคลื่อนไหวล้มล้างประชาธิปไตยโดยใช้กลไกของพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อป้องกันการอ้างว่าไม่มีเครื่องมือการจัดการ ท่ามกลางสถานะของตำรวจที่ไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอยู่แล้ว

ด้านนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จะต้องเตรียมพร้อมกับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นจะทำอย่างไรให้ความรุนแรงจำกัดวงแคบที่สุด พร้อมทั้งเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากความรุนแรง เช่น การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งอาจจะยอมรับได้หากเกิดความรุนแรงขึ้นจริง

พร้อมเห็นว่ากองทัพควรมีบทบาทที่ชัดเจนในการออกมากดดันให้เข้มข้นกว่าเดิมจากกรณีที่เคยออกรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งมาแล้วในการกดดันให้รัฐบาลรับผิดชอบจากเหตุการณ์ 7 ต.ค.แต่ไม่ใช่การรัฐประหาร ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีคงไม่ทำให้วิกฤติบ้านเมืองดีขึ้นเพราะเป็นการปรับรับรองการบริหารงานเท่านั้น แต่หากปรับทั้งโครงสร้างโดยนำทุกพรรคมาเป็นรัฐบาลหรือนำคนภายนอกมาร่วมด้วยให้เป็นรัฐบาลสมานฉันท์ก็จะเป็นเรื่องดี แต่เชื่อว่าเวลานี้อาจจะสายไปแล้ว

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)กล่าวว่า ประสบการณ์จากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา เช่น 14 ต.ค.16 หรือ พฤษภาทมิฬ 35 จบลงได้เพราะบารมีของในหลวงและผู้มีอำนาจในขณะนั้น เช่น พล.อ.ถนอม กิตติขจร, พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่างคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวโดยยอมลาออกและยุติบทบาททางการเมือง

แต่ระบบการเมืองขณะนี้ปัญหากว้างและลึก ดังนั้นการให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภาหรือแม้กระทั่งการรัฐประหารปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะการรัฐประหารเป็นเพียงการยุติปัญหาชั่วคราว ส่วนกลุ่มสานเสวนาเพื่อสันติจะเจรจา 2 ฝ่ายได้ข้อยุติหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ การลดโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เรื่องจบก็เป็นไปไม่ได้

"ผมมองไม่ออกว่าจะก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร นอกจากวิธีเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องยุติ กิเลส และเห็นแก่ชาติบ้านเมืองเมื่อนั้นบ้านเมืองจะสงบ หากไม่หยุดประเทศชาติจะล่มสลาย และสุดท้ายคนที่เสียที่สุดก็จะคือ พ.ต.ท.ทักษิณ" พล.อ.สมเจตน์ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ