ศาลกำหนด 3 ประเด็นพิจารณายุบ 3 พรรค/นัดฟังแนวทางดำเนินดคี 14.00 น.

ข่าวการเมือง Wednesday November 26, 2008 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ฟังคำสั่งแนวทางการพิจารณาคดียุบพรรคตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในช่วงบ่ายวันนี้ หลังจาก 3 พรรคการเมืองได้ยื่นพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีแล้ว

นายสุวิช ชมพูนุทจินดา รองเลขาธิการ พรรคมัชฌิมาธิปไตย(มฌ.) ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญนัดพร้อมคู่ความเพื่อตรวจพยานหลักฐานในคดียุบพรรคในช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งพรรคได้ยื่นบัญชีพยานทั้งหมด 21 ปาก โดยฟังนัดคำสั่งแนวทางการดำเนินคดีดังกล่าวในเวลา 14.00 น.

ทั้งนี้ ศาลได้มีการกำหนดประเด็นการพิจารณาไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย กรณีที่นายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตรองหัวหน้าพรรคฯ กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่, กรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคหรือไม่ และกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นและต้องถูกตัดสิทธิเลือกตั้งหรือไม่

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นการพิจารณาในคดียุบพรรคชาติไทยไว้ 3 ประเด็นเดียวกัน และนัดฟังคำสั่งในเวลา 14.00 น.

นายสุวิช กล่าวว่า ประเด็นสุดท้ายที่กรรมการบริหารพรรคจะมีส่วนรู้เห็นและต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่นั้น อัยการสูงสุดแจ้งให้ทราบว่าประเด็นนี้ไม่ได้ระบุไว้ในคำร้องให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ดังนั้นจึงเชื่อว่าคดีนี้ไม่น่าจะถึงขั้นตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากขณะเกิดเหตุยังมีความสับสนเรื่องการรับรองสถานะของกรรมการบริหารพรรค จึงเชื่อว่ากรรมการบริหารพรรคคนอื่นจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

อีกทั้งคดีนี้เป็นการยื่นคำร้องโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่นำผลการสอบสวนของในชั้นของ กกต.มายื่นคำร้องต่อศาลให้ยุบพรรค ซึ่งไม่ได้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเหมือนเช่นพรรคชาติไทยและพรรคพลังประชาชน

ด้านนายยืนหยัด ใจสมุทร ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนของพรรคพลังประชาชน ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นการพิจารณาไว้ 3 ประเด็นเหมือน 2 พรรค และนัดฟังแนวทางการพิจารณาคดีในเวลาเดียวกัน โดยทางพรรคยื่นบัญชีพยานบุคคลเกือบ 100 คน

ประเด็นที่พรรคพลังประชาชนจะใช้เป็นข้อต่อสู้ คือ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 ในมาตรา 237 กำหนดเงื่อนไขการยุบพรรคว่าต้องเป็นการกระทำผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น แต่กรณีเหตุการณ์ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคฯ เกิดขึ้นวันที่ 28 ต.ค.50 ซึ่งขณะนั้นนายยงยุทธยังไม่ได้มีสถานะเป็นผู้สมัครของพรรค จึงถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขที่จะถูกยุบพรรค อีกทั้งจะยกข้อต่อสู้ว่ากรรมการบริหารพรรคคนอื่นไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของนายยงยุทธ

ส่วนกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตัดสิทธิทางการเมืองแก่นายยงยุทธ เป็นเวลา 5 ปีนั้น เป็นการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ในมาตรา 53 ที่ระบุว่าห้ามไม่ให้ผู้สมัครกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร ตลอดจนการเสนอหรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ