พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม แถลงผลการประชุมในวันนี้ว่า ที่ประชุมมีมติให้เสนอความเห็นต่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมให้ยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด พร้อมกับการเสนอให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุติการชุมนุมทุกสถานที่อย่างเร็วที่สุด
ผบ.ทบ.ยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้เป็นการกดดันนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล แต่เป็นข้อสรุปร่วมกันจากทุกฝ่ายที่ต่างคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติเป็นสำคัญ และเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่มีการคืนอำนาจให้ประชาชนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้
"ทั้งหมดเป็นมติของคณะกรรมการร่วมกัน เราไม่ได้กดดันรัฐบาล แต่เราไม่เห็นหนทางในการแก้ไขปัญหาของชาติ ดังนั้นทางออกคือต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน" ผบ.ทบ.กล่าว ภายหลังการประชุมร่วมกับหัวหน้าทุกส่วนราชการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ตลอดจนภาคธุรกิจการค้าในหลายสมาคมฯ
วันนี้มติในที่ประชุมร่วมมีข้อสรุป 4 แนวทาง เพื่อใช้เป็นทางออกในการยุติสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประกอบด้วย 1.การแก้ปัญหาโดยยึดกรอบของหลักประชาธิปไตย 2.ไม่แก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรง 3.เสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว และ 4.ให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ และยุติการชุมนุมในทุกพื้นที่
คณะกรรมการฯ จะทำหนังสือเป็นลายลักษณ์ไปยังรัฐบาลโดยเร็วที่สุดถึงข้อเสนอแนะดังกล่าว และให้เวลานายกรัฐมนตรีไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อย ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินกรอบเวลาภายในสัปดาห์นี้ โดยเชื่อมั่นว่าในท้ายสุดแล้วนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจโดยเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
พล.อ.อนุพงษ์ ยังยืนยันว่าไม่กลัวที่จะต้องถูกปลดจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.จากการยื่นข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา เพราะถ้ากลัวก็คงจะปฏิวัติไปนานแล้ว แต่จากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าการปฏิวัติไม่สามารถทำได้ เพราะจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง
"ถ้าผมกลัวที่จะถูกปลด ผมปฏิวัติก็ได้ และจะได้ใหญ่ที่สุดในประเทศนี้และสั่งการได้ทุกอย่าง แต่เราไม่เลือกที่จะทำเช่นนั้น ถ้ากลัวคงไม่มาเสนออย่างนี้ อย่าเข้าใจผิดว่าผมกลัวจะเสียตำแหน่ง" ผบ.ทบ.กล่าว
ด้านนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ไม่ได้รับการตอบสนองไม่ว่าจะจากทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายพันธมิตรฯ คณะกรรมการฯ มีมติที่จะใช้แนวทางในการปฏิเสธความชอบธรรมในการบริหารราชการของรัฐบาล และจะใช้ความชอบธรรมทางสังคมกดดันหากพันธมิตรฯไม่รับข้อเสนอ
"เราเสนอโดยทัศนคติที่บริสุทธิ์ใจ ในฐานะผู้บริหารจากทุกภาคส่วน เราหวังว่ารัฐบาลจะไตร่ตรองและใช้ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีในการยุติความรุนแรง หากรัฐบาลไม่ดำเนินการต่อข้อเรียกร้อง เราคงต้องใช้การปฏิเสธความชอบธรรมในการบริหารราชการต่อไป" นายสุรพล หนึ่งในคณะกรรมการฯ ระบุ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ยังหวังว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะหากรัฐบาลตัดสินใจเช่นนี้กลุ่มพันธมิตรฯ ก็จะหมดเงื่อนไขในการชุมนุมต่อไป และท้ายสุดหากพันธมิตรฯ ยังฝืนที่จะชุมนุมต่อไปก็จะต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้ เพราะถือว่ารัฐบาลได้ลาออกไปแล้วตามข้อเรียกร้อง