นักวิชาการเชียร์นายกฯ ใช้กม.ความมั่นคงฯ คุมสถานการณ์ ก่อนแก้ปมการเมือง

ข่าวการเมือง Thursday November 27, 2008 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขก่อนคือการออกมาตรการที่ชัดเจนเพื่อบรรเทาเหตุปะทะรุนแรงและปัญหาการเผชิญหน้าของคน 2 ฝ่าย รวมทั้งการแก้ปัญหาที่กลุ่มผู้ชุมนุมบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งทั้ง 2 ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อภาพพจน์ความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นจึงเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองว่าจะมีการนำไปสู่การตัดสินใจยุบสภาหรือลาออกหรือไม่

"ปัญหาเฉพาะหน้าคงต้องพยายามกำหนด จัดระบบ จัดโครงสร้าง จัดมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามบานปลายของการเผชิญหน้าในการใช้กำลังก่อน ซึ่งขณะนี้มีบ้างแล้วแต่ยังไม่มากนัก แต่ควรรีบทำก่อน มาตราการเอาตัวคนใช้กำลังหรือติดอาวุธมาลงโทษ คงต้องรอดูว่าท่านจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อจะสกัดกั้นไม่ให้ใช้กำลัง" นายปณิธาน กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องความมั่นคงของประเทศจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่านายกรัฐมนตรีจะกำหนดมาตรการหรือสั่งบังคับใช้กฎหมายใดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศกฎอัยการศึก, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือแค่เพียงการกำหนดตัวบุคคลเข้ามารับผิดชอบดูแลแก้ไขสถานการณ์

นายปณิธาน เห็นว่าการเลือกใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ดูจะมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้มากที่สุด เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความใกล้เคียงกับที่หลายประเทศมีอยู่ ซึ่งน่าจะทำให้ต่างชาติเข้าใจสถานการณ์ได้ดีกว่าการที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือการประกาศกฎอัยการศึกที่จะส่งผลกระทบรุนแรงมากว่าในเชิงจิตวิทยา

"ถ้าเอา พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาใช้ จะใกล้เคียงกับต่างประเทศ หลายประเทศเขารู้จะเข้าใจมากกว่า มันมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล คานอำนาจที่ดีกว่า สร้างความตื่นตระหนกน้อยกว่า แต่ก็มีข้อจำกัดที่โครงสร้างยังใหม่ ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบร่วมกันที่ชัดเจนกว่า แต่ฝ่ายบริหารก็ยังไม่ค่อยสบายใจที่จะใช้ และต้องมีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน อย่างชัดเจน" นายปณิธาน กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังมองว่าท่ามกลางความวางใจของรัฐบาลว่าทหารจะไม่ออกมาปฏิวัติ จึงอาจทำให้รัฐบาลซื้อเวลาออกไปก่อนเพื่อประคับประคองสถานการณ์และพยายามรักษามวลชนไว้ด้วยการไม่ดำเนินการในวิธีรุนแรง โดยวิธีนี้รัฐบาลอาจเลือกทำเพียงแค่การสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมมาช่วยบริหารสถานการณ์ ปรับสายการบังคับบัญชางานด้านความมั่นคงให้มีความกระชับขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะยิ่งสร้างความกดดันให้แก่กลุ่มพันธมิตรฯ มากขึ้น หรือรัฐบาลอาจใช้วิธีกดดันที่เข้มข้นขึ้นด้วยการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงเข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์

"คิดว่าอาจจะผสมกันไป ขณะนี้แรงกดดันให้รัฐบาลยุบสภามีมากขึ้น แต่เท่าที่รัฐบาลส่งสัญญาณออกมา ก็คือไม่เชื่อว่าจะปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้นรัฐบาลคงพยายามซื้อเวลาด้วยการมีมาตรการบางอย่างออกมา และถ้ารัฐบาลต้องการกดดันอย่างเข้มข้นก็คงสั่งให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ"นายปณิธาน กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ