นักวิชาการเรียกร้องให้พรรคพลังประชาชน(พปช) ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค ปลดล็อคทางการเมืองโดยยอมให้มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อย่าฝืนดันทุรังต่อไปจะยิ่งทำให้ประเทศชาติเสียหาย
"เหมือนทีมฟุตบอลที่ส่งทีมเอซึ่งเป็นตัวจริงลงแข่งแต่โดนใบแดง พอจัดทีมบีซึ่งเป็นตัวสำรองลงแข่งใหม่แล้วก็โดนใบแดงอีก คราวนี้หากจะจัดทีมซีลงแข่งใหม่ ซึ่งเป็นตัวสำรองของตัวสำรอง มันก็คงไม่ได้แล้ว จะให้เผชิญหน้ารับมือกับเหตุการณ์ในตอนนี้ก็ไม่ไหว จะดีกว่ามั้ยถ้าจัดเป็นทีมผสม" นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
สำหรับผู้ที่มีข่าวว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เช่น พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์, นายชัย ชิดชอบ, นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์, นายสันติ พร้อมพัฒน์ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นั้น นายโคทม กล่าวว่า ไม่อยากวิจารณ์ตัวบุคคลเป็นการเฉพาะว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เพราะการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดำเนินการกันเอง ส่วนจะมีแรงต้านหรือไม่ไม่อาจแสดงความเห็นได้ เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะไปวิเคราะห์
นายโคทม กล่าวว่า อยากให้นักการเมืองมองให้กว้างกว่านี้ ไม่ควรมองแค่กลุ่มนักการเมืองด้วยกันเองเท่านั้น รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นใหม่น่าจะดึงคนดีที่มีความสามารถจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งอาจเป็นพรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายแขนง มาร่วมกันบริหารบ้านเมืองในขณะนี้ แต่ต้องดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย
"การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ สิ่งที่ต้องคำนึงนั้นจะเป็นใคร ไม่สำคัญเท่ากับการเป็นคนดีมีความสามารถและเป็นที่ยอมรับจากประชาชนในประเทศ ซึ่งแรงกดดันจากพันธมิตรฯ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง เพราะคำว่าประชาชนก็หมายรวมถึงพันธมิตรฯ ที่เป็นประชาชนคนไทยอยู่แล้ว และหากเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนก็สามารถอยู่ในสมัยได้นาน" นายโคทม กล่าว
ด้าน นางสิริพรรณ นกสวน อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากพรรค พปชยังดึงดันที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป โดยอ้างเสียงข้างมากเลือกคนในพรรคมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็จะทำให้ปัญหาทางการเมืองก็คงยังไม่จบสิ้น
"หากพรรคพลังประชาชนยังต้องการการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล ตัวแปรสำคัญที่จะปลดล็อคการเมืองจึงอยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาลว่าจะมองเรื่องนี้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาพรรคพลังประชาชนแสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถควบคุมอำนาจรัฐได้ ดังนั้นพรรคร่วมรัฐบาลจะยอมให้พรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาลอีกหรือไม่" นางสิริพรรณ กล่าว
ที่ผ่านมากลไกของรัฐสภามีช่องโหว่ ส.ส.ที่ถูกเลือกเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนไม่เคยถามความคิดเห็นจากประชาชนและไม่แสดงบทบาท ปล่อยให้พรรคการเมืองควบคุม ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลมี 2 ทางเลือกในขณะนี้ ประการแรก คือ การเปลี่ยนขั้วทางการเมือง โดยไปรวมกับพรรค ปชป.เพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่จำนวนเสียงในสภาจะเกินกึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
นางสิริพรรณ กล่าว รัฐบาลที่นำโดยพรรค ปชป.จะต้องประกาศชัดเจนว่าถึงภารกิจ และช่วงเวลาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลแล้วจึงยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งต่อไป แต่วิธีนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลก็มีสัญญาใจอยู่กับพรรค พปช.
ทางเลือกประการที่ 2 คือ พรรคร่วมรัฐบาลต้องบีบรัฐบาลให้ยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งหากเดินมาถึงจุดนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ควรต้องยอมรับ และโดยส่วนตัวเห็นว่าวิธีนี้ คือ ทางออกที่อยากเห็นที่สุด
"การเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีสัญญาระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนในลักษณะที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ หากประชาชนเลือกพรรคนี้แล้วก็จะได้บุคคลนี้เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นหากนายกฯ พ้นจากตำแหน่งจึงไม่มีสิทธิเอาคนอื่นมาเป็นนายกฯ แทน รัฐบาลต้องยุบสภา และอำนาจสุดท้ายต้องคืนให้ประชาชน" นางสิริพรรณ กล่าว
ส่วนตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาลหากมาเป็นนายกรัฐมนตรี เช่น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดิน หรือ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาจะช่วยแก้วิกฤตได้หรือไม่นั้น นางสาวสิริพันธ์ กล่าวว่า วิธีนี้อาจจะเป็นอีกทางออกหนึ่ง แต่ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่ที่พรรค พปช. และเชื่อว่าวิธีนี้ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว