นักวิชาการหยิบยกกรณี"โอบามา"ตั้งรัฐบาลใหม่เป็นกรณีศึกษาแก้วิกฤตชาติ

ข่าวการเมือง Thursday December 4, 2008 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปกรณ์ ปรียากร คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สามารถประเมินความเป็นไปได้ทางการเมืองในกรอบประชาธิปไตย 2 กรณี คือ กรณีขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจับมือจัดตั้งรัฐบาล และให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน อีกกรณี คือพรรคประชาธิปัตย์ จับมือพรรคการเมืองที่เหลือจัดตั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน

แต่ปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลชุดใหม่จะมาจากขั้วการเมืองใดจะต้องนำไปสู่ทางออกทางการเมือง โดยรัฐบาลต้องเข้าใจวิธีบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมองว่าต้องใช้การประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย เปิดทางให้ทุกกระแสความคิดมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่มีการแบ่งแยกข้างหรือขั้วใด

นายปกรณ์ กล่าวว่า บทเรียนทางการเมืองที่เกิดขึ้น สอนให้รู้ว่าผู้มีอำนาจจำเป็นต้องแยกให้ออกระหว่างเรื่องที่ถูกต้อง ชอบธรรม จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ไม่เป็นของฝ่ายใดฝ่ายเดียว เหมือนเช่นกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่แต่งตั้งคู่แข่งทั้งจากพรรคเดียวกัน และต่างพรรค เข้ามารับตำแหน่งบริหารประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ต้องการให้ผู้มีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาล นำไปพิจารณาเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ขอฝากให้รัฐบาลใหม่ที่จะมาบริหารประเทศ เร่งเยียวยาสถานที่ที่ได้รับความเสียหายจากการปิดล้อมของกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่น ลดภาพความขัดแย้งของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ เพราะนำไปสู่ปัญหาความแตกร้าวทางสังคมอย่างชัดเจน ดูแลเรื่องความโปร่งใสของการประมูลต่างๆ ภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชน เร่งพิจารณาคดีที่ค้างอยู่ โดยเฉพาะคดีหมิ่นเบื้องสูง ป้องกันและยับยั้งชนวนเหตุ และหากยังเป็นรัฐบาลชุดเดิมเข้ามาบริหารประเทศต้องแสดงจุดยืนให้ประชาชนรู้ว่าไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ