มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต) โดยนายสัก กอแสงเรือง รองประธานมูลนิธิองค์กรกลางฯ ยื่น 7 ข้อเสนอต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้
โดย 1.ควรเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นที่ตั้ง ใช้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เลือกแนวทางสร้างสันติแก่สังคมไทยโดยมองจากปัญหาของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมาและไม่สร้างปัญหาซ้ำแล้วซ้าอีก 2.พรรคที่มีเสียงมาอันดับหนึ่งแม้ว่าจะได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาลแต่หากเป็นพรรคการเมืองเดิมที่เคยไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารก็ควรมีมารยาทให้พรรคที่เสียงลำดับรองได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อพิสูจน์ความสามารถในการบริหารประเทศโดยไม่ขัดหลักประชาธิปไตย
3.การเข้าสังกัดพรรคใหม่หรือการรวมตัวเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ไม่ควรนำเรื่องผลประโยชน์การซื้อตัว ส.ส.การเสนอตำแหน่งหรือการข่มขู่ยุบสภามาเป็นเหตุ แต่ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานและอุดมการณ์ที่ตรงกันและเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ 4.การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.แต่ละคน ควรใช้วิจารณาญาณคำนึงถึงประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของพรรคพวกและการชี้นำของนายทุนพรรค 5.การแต่งตั้งรัฐมนตรีควรลดหรือเลิกโควต้าตอบแทนบุญคุณแต่ควรแต่งตั้งจากคนที่มีความรู้ความสามารถใช้โอกาสที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้แต่งตั้งจากคนนอกที่ไม่ได้เป็นส.ส.เลือกคนดีมีฝีมือมาช่วยบริหารบ้านเมืองให้รอดพ้นวิกฤต
6.รัฐบาลใหม่ควรมุ่งแก้ไขปัญหาของประเทศโดยไม่เตะต้องประเด็นร้อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งและการล่มสลายของรัฐบาลในมี 7 ข้อ คือ การไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน การเสียดินแดนและอธิปไตยของประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ทุจริต การแทรกแซงองค์กรอิสระ การใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคน และการเอาคืนคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างไม่มีเหตุผล และ 7.สร้างความสมดุลระหว่างอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ โดยแทรกแซงซึ่งกันและกัน โดยเปิดโอกาสโดยแต่ละฝ่ายได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลถึง 2 ครั้ง แต่เห็นได้ว่ารัฐบาลไม่สามารถบริหารงานได้ และจากข้อเสนอขององค์กรกลางฯ จะเห็นว่าเราเสนอให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงอับดับที่ 2 จัดตั้งรัฐบาลถ้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากบริหารงานไม่ได้ ซึ่งขณะนี้พรรคอันดับสองก็คือ พรรคประชาธิปัตย์
ส่วนเรื่องการยุบสภาถ้ายุบสภาตอนเกิดวิกฤตก็สามารถทำได้แต่สถานการณ์ช่วงนี้ผ่อนคลาย ถ้ายุบสภาก็มองได้ว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองและเป็นการยุบสภาเพื่อประโยชน์ของตัวเองไม่ใช่ประโยชน์ส่วนร่วม เพราะรัฐบาลเองได้ย้ำอยู่เสมอว่าจะไม่ยุบสภาไม่ลาออก