นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง เปิดเผยว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิการโหวตของ ส.ส.ระบบสัดส่วนที่ย้ายจากพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ยังมีสิทธิโหวตได้หรือไม่ แม้ขณะนี้ทางกลุ่ม 40 ส.ว.ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้แล้ว แต่ศาลก็ต้องวินิจฉัยอีกว่า ส.ว.มีสิทธิจะยื่นเรื่องต่อศาลได้หรือไม่ เพราะถือเป็นคนละสภา
ทั้งนี้ เห็นว่าหากจะมีผู้คัดค้านสิทธิของส.ส.ระบบสัดส่วนดังกล่าว ควรเป็นเรื่องที่ ส.ส. จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และควรนำเรื่องผ่าน กกต. หรือ เสนอผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะยื่นเรื่องให้ศาล
"ปัญหาคือ ส.ว.มีสิทธิยื่นเรื่องต่อศาลหรือไม่ ศาลก็ต้องดูอำนาจในการยื่นคำร้องทำได้หรือไม่...ถ้าจะมีการคัดค้านก็ต้องผ่าน กกต. หรือประธานสภาก่อน แต่เมื่อไม่มีการยื่นเรื่องมา กกต.ก็ทำอะไรไม่ได้" นางสดศรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญ รับพิจารณาเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว จะมีผลให้การโหวตนายกรัฐมนตรี หยุดชะงักลงหรือไม่ เป็นเรื่องของการตีความตามรัฐธรรมนูญปี 50 เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน
นางสดศรี กล่าวว่า กกต.ได้มีมติ เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบพรรครวม 29 คน ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน 13 คน และพรรคชาติไทย 16 คน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่มี ส.ส.สัดส่วน 4 คน จาก พปช. 1 คน และ พรรคชาติไทย 3 คน ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ต้องตีความเรื่องนี้กันต่อไป และยังเป็นปัญหาที่ความสับสนในเรื่องของจำนวนส.ส.ของขั้วการเมืองต่างๆ ที่จะจัดตั้งรัฐบาล