สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดำเนินการงานวิจัยเชิงสำรวจเรื่องจุดยืนที่แตกต่างทางการเมืองกับอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลายต่อสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศ: กรณีศึกษาประชาชนที่ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำ ในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 3,231 ตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.7 ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (พลังเงียบ) ในขณะที่ ร้อยละ 30.1 สนับสนุนรัฐบาล (อดีตพรรคพลังประชาชน) และร้อยละ 12.2 ไม่สนับสนุนรัฐบาล
นอกจากนี้ กลุ่มคนไม่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มที่ขออยู่ตรงกลางเป็นพลังเงียบ ส่วนใหญ่ร้อยละ 96.4 และร้อยละ 73.0 ต่างก็อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระดับมาก ถึง มากที่สุด
ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.7 มีความเครียดต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันระดับมากถึงมากที่สุด และเมื่อจำแนกตามจุดยืนทางการเมืองแต่ละกลุ่ม พบว่า ประชาชนที่มีจุดยืนทางการเมืองทุกกลุ่มส่วนใหญ่กำลังเครียดต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน โดยกลุ่มที่มีจำนวนคนที่เครียดมากที่สุดคือ กลุ่มสนับสนุนรัฐบาล อดีต พปช. คือมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72.6 รองลงมาคือ กลุ่มพลังเงียบมีสัดส่วนร้อยละ 69.3 และ กลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมีสัดส่วนร้อยละ 64.4 ที่ระบุความเครียดต่อสถานการณ์การเมืองระดับมาก ถึง มากที่สุด
ด้านความต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ พบว่า โดยภาพรวมเกือบครึ่งหรือร้อยละ 48.4 มีความอยากให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติระดับมากถึงมากที่สุด โดยได้เสียงสนับสนุนแนวคิดนี้จากกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่คือร้อยละ 74.3 และกลุ่มที่เป็นพลังเงียบ ร้อยละ 51.2 ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล (อดีต พปช.) ร้อยละ 32.7