ปีนี้ ประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งไทยต่างเผชิญสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน ประเทศมหาอำนาจเองก็ยังคงมีปัญหาเรื่องการแบ่งแยกตัวเป็นอิสระของดินแดนภายใต้อาณัติ ตลอดจนความขัดแย้งของพรรคการเมืองภายในประเทศเล็กๆ แต่ที่โดดเด่นคงจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐ และเหตุการณ์ตื่นเต้นส่งท้ายปีกับผู้นำสหรัฐที่ใกล้จะอำลาตำแหน่ง
In Focus รอบนี้ ขอย้อนรอยเหตุการณ์ตามช่วงเวลาที่สถานการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีไปยังท้ายปี
ในที่สุดแรงกดดันที่สะสมมาเนิ่นนานก็ได้ปะทุออกมา ในขณะที่จีนเตรียมจัดพิธีวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกเพื่อโหมโรงมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติในฐานะเจ้าภาพนั้น ชาวทิเบตพลัดถิ่นมากกว่า 100 คน กลับรวมตัวกันเพื่อเดินขบวนประท้วงจีน โดยเริ่มเดินขบวนจากประเทศอินเดียไปยังทิเบต ในโอกาสครบรอบ 49 ปี ที่องค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต หลังประสบความล้มเหลวในการแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน
เหตุการณ์เดินขบวนประท้วงจีนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น พระสงฆ์ราว 600 รูปเดินขบวนในกรุงลาซา ประชาชนก่อเหตุทำลายร้านค้าของชาวจีน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประมาณ 2,000 คนต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง กลุ่มผู้สื่อข่าวต่างชาติถูกสั่งห้ามเข้าไปทำข่าวสถานการณ์ในกรุงลาซา แต่ก็ยังมีรายงานเล็ดลอดออกมาโดยตลอดว่า จีนใช้กำลังรุนแรงในการปราบปรามผู้ประท้วง เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จีนภูมิใจและได้จัดเตรียมความพร้อมมาเป็นเวลานาน
รัฐบาลจีนและรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ต่างแย่งกันออกมาแถลงตัวเลขจำนวนประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่รัฐบาลจีนกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงและผู้ก่อความวุ่นวายในทิเบต จีนระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 22 คน ขณะที่รัฐบาลทิเบตเชื่อว่า มีชาวทิเบตเสียชีวิตอย่างน้อย 203 คน และผู้บาดเจ็บอีกประมาณ 1,000 คน
แม้ว่า เหตุการณ์ประท้วงจะสิ้นสุดลง แต่จุดยืนที่แข็งกร้าวของจีนต่อทิเบตยังคงไม่เสื่อมคลาย จีนตัดสินให้จำคุกชาวทิเบต 17 คน ที่มีส่วนพัวพันกับเหตุจลาจลในนครลาซาของทิเบตเมื่อวันที่ 14 มีนาคม โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิต
นายหม่า อิง จิว ผู้แทนจากพรรคก๊กมินตั๋งสามารถโค่นนายแฟรงค์ เซียะห์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีไต้หวันลงได้ด้วยคะแนน 58 ต่อ 41% พร้อมให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
สาเหตุที่ทำให้นายเซียะห์ไม่สามารถคว้าชัยในการเลือกตั้ง เป็นเพราะประชาชนไม่พอใจกับผลงานของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ เงินเฟ้อ และความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวยที่กว้างขึ้น ภายใต้การบริหารของพรรคดีพีพีที่นำโดยประธานาธิบดีเฉิน สุ่ย เปียน ซึ่งมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับคดีทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งกับครอบครัวและผู้ช่วยของเขา
ชัยชนะของหม่า อิง จิว นำไปสู่การเจรจาครั้งประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงและเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างจีนและไต้หวัน หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้จัดการเจรจาโดยตรงร่วมกันนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 และเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา จีนและไต้หวันก็สามารถเปิดเที่ยวบิน การขนส่งสินค้าทางเรือ และบริการไปรษณีย์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี
การเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างจีนและไต้หวันในวันนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ของทั้งสองฝ่าย และสร้างความพอใจให้กับจีนที่ดินแดนแห่งนี้กลับมาอยู่ภายใต้อาณัติอีกครั้ง
นายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซียต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ถูกจำคุกเป็นเวลา 6 ปีในข้อหาทุจริตและมีพฤติกรรมแบบรักร่วมเพศ จนกระทั่งศาลสูงของมาเลเซียได้พลิกคำตัดสินในข้อหารักร่วมเพศ และปล่อยตัวออกมาเมื่อปี 2548
แต่ดูเหมือนเส้นทางการกลับสู่วงการการเมืองของนายอันวาร์จะไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ ในขณะที่กำลังจะรุ่ง เส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯก็ต้องสะดุดลงทุกครั้ง อันวาร์ถูกกล่าวหาอีกครั้งในรูปแบบเดิมๆว่า มีพฤติกรรมรักร่วมเพศกับผู้ช่วยชายวัย 28 ปี แม้ว่าเส้นกราฟชะตาชีวิตของเขาในขณะนั้นมีแนวโน้มว่าจะกลับมาแจ้งเกิดอย่างเต็มที่เมื่อพรรคฝ่ายค้านได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหลายรัฐ และตัวนายอันวาร์เองก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมที่รัฐปีนังไปแบบถล่มทลาย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สดใสของพรรคฝ่ายค้านในการโค่นล้มรัฐบาลภายใต้การนำของนายอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
นายอันวาร์ต้องระเห็จเข้าไปลี้ภัยในบ้านพักของทูตตุรกีประจำมาเลเซียในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ท่ามกลางความหวาดกลัวที่จะถูกรัฐบาลลอบสังหาร หลังถูกโจมตีด้วยข้อหารักร่วมเพศ ท้ายที่สุด นายแพทย์มาเลเซียก็ได้ออกมายืนยันผลการตรวจร่างกายผู้ช่วยชายของนายอันวาร์ ไม่พบหลักฐานว่า เขาถูกล่วงละเมิดทางเพศแต่อย่างใด
ความพยายามที่จะแยกตัวเป็นอิสระของเขตแคว้นต่างๆที่อยู่ในอาณัติของประเทศที่สามารถแยกตัวจากอดีตสาธารณรัฐสหภาพโซเวียตยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิกฤติการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อจอร์เจียส่งทหารเข้าไปในเขตเซาธ์ ออสเซเทีย ที่พยายามแยกตัวออกจากจอร์เจียและมีจุดยืนในการสนับสนุนรัสเซีย ส่งผลให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรงจนกลายเป็นสงครามไปในที่สุด
การปะทะกันครั้งนี้ทำให้นานาประเทศต่างวิตกกังวล เนื่องจากจอร์เจียเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันทางเรือที่สำคัญไปยังกลุ่มประเทศตะวันออก ซึ่งนักลงทุนมองว่าสถานการณ์ความรุนแรงนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาวะอุปทานพลังงานในชาติตะวันตก อีกทั้งยังตอกย้ำถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างสหรัฐและรัสเซีย โดยสหรัฐเป็นประเทศที่สนับสนุนจอร์เจีย และอยากให้จอร์เจียเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือหรือนาโต้ ขณะที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน นายกรัฐมนตรีของรัสเซียออกมาปกป้องการทำสงครามของรัสเซียในจอร์เจียว่า รัสเซียไม่ได้พยายามที่จะผนวกอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตรวมไว้ในรัสเซีย การที่รัสเซียต้องรุกรานจอร์เจียเนื่องจากจอร์เจียได้โจมตีเมืองสำคัญของเซาท์ออสเซเทีย
ประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โคซีย์ของฝรั่งเศส ได้ออกมาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการผลักดันให้มีการถอนกองกำลังรัสเซียออกจากเซาท์ออสเซเทีย จนในที่สุดทั้งสองฝ่ายได้ยอมลงนามในข้อตกลงหยุดยิง แม้ว่าสงครามจะยุติลงแต่การที่รัสเซียประกาศรับรองเอกราชของแคว้นเซาท์ออสเซเทียและอับคาเซียนั้น ส่งสัญญาณให้เห็นว่า เสถียรภาพในภูมิภาคดังกล่าวอาจจะสั่นคลอนขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ หลังจากที่มีตัวอย่างในการแยกตัวเป็นเอกราชอย่างต่อเนื่อง
ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐได้เปิดฉากขึ้นอย่างคึกคัก เนื่องจากชาวอเมริกันต่างตั้งหน้าตั้งตารอที่จะได้ผู้นำประเทศคนใหม่ เนื่องจากประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานับประการในยามที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ภาพลักษณ์ของประเทศเองที่ยังคงเป็นตำรวจโลกในสายตาของบางประเทศ และตัวเลือกคราวนี้ก็มีคุณสมบัติที่น่าลุ้นเป็นอย่างยิ่ง โดยตัวแทนจากพรรคเดโมแครตเจ้าของสโลแกน “CHANGE WE NEED" อย่างนายบารัค โอบามา วุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์วัย 47 ปี ควงคู่มากับนายโจ ไบเดน คู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ประชันกับตัวแทนจากพรรครีพับลิกันอย่างจอห์น แมคเคน นักการเมืองรุ่นเก๋าวัย 72 ปี ที่จูงมือนางซาราห์ พาลิน คู่ชิงรองประธานาธิบดีเข้าชิงเก้าอี้ในทำเนียบขาว
นอกจากปัจจัยเรื่องคุณสมบัติที่มีจุดเด่นกันไปคนละด้านแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศก็เป็นอีกประเด็นที่กระตุ้นให้ชาวอเมริกันติดตามความเคลื่อนไหวของว่าที่ผู้นำคนใหม่ ดีกรีความร้อนแรงก่อนการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้สมัครจากเดโมแครตและรีพับลิกันได้ขึ้นเวทีอภิปราย เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ โดยนโยบายต่างประเทศของแมคเคนดูเหมือนว่าจะทำคะแนนได้ดีกว่า ขณะที่โอบามาได้คะแนนนิยมไปจากนโยบายเศรษฐกิจ
ชาวอเมริกันออกมาใช้สิทธิลงคะแนนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในทุกมลรัฐจำนวนกว่า 130 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2503 และแล้ว โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐที่มีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ก็ได้รับชัยชนะไป นับเป็นชัยชนะที่ชี้ให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มองข้ามเรื่อง “สีผิว" และ “ประสบการณ์" ซึ่งเคยเป็นจุดอ่อนที่โอบามาถูกโจมตีมาโดยตลอดนั้น ไม่มีความสำคัญเท่ากับนโยบายและความตั้งใจที่จะเข้ามาบริหารประเทศด้วยจุดยืนที่แตกต่างไปจากนักการเมืองรุ่นเก่า
ภายหลังจากที่ได้รับชัยชนะแล้ว โอบามาก็สร้างความประทับใจด้วยการเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ครม.ชุดใหม่ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่เหมาะสม แม้แต่คู่แข่งขณะหาเสียงเพื่อเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต อย่างนางฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ก็ยังได้รับการเสนอชื่อจากนายโอบามาให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ด้วยเป้าหมายที่จะนำพาอเมริกาผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง สมควรที่นักการเมืองบางประเทศควรจะเอาเยี่ยงอย่าง ไม่ใช่ตั้งเป้าเลือกแต่พรรคพวกของตนเอง
มุมไบ ศูนย์กลางทางการเงินและสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติต้องนองไปด้วยเลือด หลังเกิดเหตุระเบิดและโจมตีขึ้นทั่วเมือง โดยกลุ่มคนร้ายได้กระจายกำลังลอบวางระเบิด กราดยิงใส่ฝูงชนตามจุดต่างๆ โดยพุ่งเป้าการโจมตีไปที่กลุ่มชาวต่างชาติตามโรงแรมดังๆ คาเฟ่ สถานีรถไฟ และภัตตาคาร ปฏิบัติการครั้งนี้ยังขยายวงออกไปเมื่อกลุ่มคนร้ายได้จับชาวต่างชาติเป็นตัวประกันเอาไว้ โดยจุดสำคัญที่กลุ่มคนร้ายได้เคลื่อนพลบุกเข้าไปจับตัวประกันเป็นจำนวนมากคือที่โรงแรมทัชมาฮาล และโรงแรมโอเบอรอย ซึ่งเป็นโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ทางตอนใต้ของมุมไบ หน่วยคอมมานโดอินเดียต้องใช้เวลาข้ามคืนกว่าที่จะช่วยตัวประกันออกมาได้ แต่เหตุก่อการร้ายครั้งรุนแรงนี้ก็มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน และผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก
เหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานและอินเดียต้องกระทบกระเทือน เนื่องจากมีหลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ว่า ปากีสถาน เพื่อนบ้านของอินเดียอาจจะมีส่วนรู้เห็นกับการโจมตีครั้งนี้ สหรัฐเองต้องรีบออกมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความตึงเครียด โดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ส่งดร.คอนโดลิสซา ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเยือนอินเดียในทันที เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในพันธสัญญาและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหรัฐกับอินเดีย และความมุ่งมั่นในการสกัดกั้นการก่อการร้าย ขณะที่นายบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ยืนยันสหรัฐจะให้ความร่วมมือกับอินเดียและประเทศทั่วโลกเพื่อถอนรากถอนโคนและทำลายเครือข่ายผู้ก่อการร้าย
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ผู้ซึ่งใกล้จะอำลาจากตำแหน่งผู้นำสหรัฐในเร็ววันนี้ต้องพบกับประสบการณ์ชนิดลืมไม่ลง จากการเดินทางเยือนอิรักครั้งสุดท้าย เมื่อเขาแถลงข่าวร่วมกับนายนูรี อัล-มาลิกี นายกรัฐมนตรีอิรัก แล้วถูกนายมันตาเชอร์ อัล ไซดี นักข่าวอิสระของสถานีโทรทัศน์อัล แบดาห์ดี ขว้างรองเท้าใส่อย่างไม่เกรงกลัว แถมยังตะโกนส่งท้ายด้วยว่า "นี่เป็นการจูบลาแก เจ้าสุนัข"
โชคดีที่ว่า บุชสามารถหลบรองเท้าทั้งสองข้างได้ และยังสามารถระงับอารมณ์ไว้ได้ภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้ม แต่คนที่ได้รับผลพวงไปจังๆกลับกลายเป็นนางดาน่า เพริโน่ โฆษกทำเนียบขาว ซึ่งบังเอิญถูกแรงกระแทกจนขอบตาฟกช้ำ ในช่วงที่เหตุการณ์ชุลมุน หลังจากนั้นไม่นาน ผู้สื่อข่าวมือปารองเท้าก็ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวออกจากที่ประชุม
โฆษกทำเนียบขาวได้ออกมาแถลงข่าวภายหลังว่า บุช ไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก หลังถูกนักข่าวอิรักขว้างรองเท้าเข้าใส่ และปล่อยให้กระบวนการทางกฎหมายในอิรักพิจารณาลงโทษผู้ก่อเหตุตามความเหมาะสม ขณะที่รัฐบาลอิรักได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การกระทำดังกล่าวของนายอัล-ไซดี เป็นสิ่งที่น่าละอายและทำลายชื่อเสียงของนักข่าวและวงการสื่อสารมวลชนของอิรักโดยรวม
สวนทางกับความรู้สึกของประชาชนชาวอิรักที่ได้ออกมารวมตัวกันหลังเกิดเหตุ เพื่อเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนายมันตาเชอร์ อัล-ไซดี ซึ่งกลายเป็น "ฮีโร่" ของชาวอิรัก ขณะที่รองเท้าคู่ที่ขว้างใส่ผู้นำสหรัฐได้กลายเป็นรองเท้าคู่ดังไปภายในพริบตา มหาเศรษฐีชาวอาหรับจำนวนมากต่างแย่งกันเสนอซื้อรองเท้าบินได้คู่นี้ โดยให้ราคาสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 350 ล้านบาท แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะเจ้าหน้าที่สหรัฐได้ทำลายรองเท้าคู่ดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีหนุ่มหัวใสชาวอังกฤษที่ได้นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาสร้างเป็นเกมและนำออกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ และแน่นอนมีผู้คลิกเข้าไปเล่นเกมในวันที่ 16 ธันวาคม เพียงวันเดียวสูงถึง 1.4 ล้านคน
เหตุการณ์ครั้งนี้ คงจะสะท้อนได้ดีถึงความรู้สึกที่ชาวอิรักและชาวโลกมีต่อผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน และยังเป็นการตอกย้ำถึงภารกิจและนโยบายต่างประเทศของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ด้วยเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีนี้ มีทั้งความรุนแรง ความไม่ลงรอยกันที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ ควรค่าที่จะนำมาเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมอีก เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกเองก็อยู่ในภาวะวิกฤตอยู่แล้ว หากการเมืองวิกฤตอีก อนาคตของแต่ละประเทศคงจะกู่ไม่กลับ แต่สถานการณ์การเมืองจริงๆในปีหน้าจะเป็นอย่างไร คงจะต้องลุ้นกันต่อไป ขออย่างเดียวอย่าให้เหมือนกับที่เกิดขึ้นในบ้านเราช่วงก่อนหน้านี้เลยก็แล้วกัน สาธุ...