รมว.แรงงาน เล็งแจกค่าครองชีพคนมีรายได้ประจำ-เสนอลดเก็บเงินเข้า สปส.

ข่าวการเมือง Monday January 12, 2009 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจให้คณะกรรมการกองทุนประกันสังคม(สปส.)พิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสำคัญ คือ ให้ค่าครองชีพกับผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 2 หมื่นบาท รายละ 2 พันบาท เป็นเวลา 1 ปี และการลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม(สปส.)

สำหรับแนวคิดการจัดสรรเงินจากงบกลางปีงบประมาณ จำนวน 19,372 ล้านบาท จะใช้เป็นค่าครองชีพให้กับผู้ประกันตนสำหรับผู้ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 2 หมื่นบาท โดยจะจ่ายค่าครองชีพให้เดือนละ 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีผู้ประกันตนจำนวนทั้งหมด 9.3 ล้านคน ซึ่งการจัดสรรเงินค่าครองชีพจะต้องรอให้คณะกรรมการ สปส.พิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อน

ส่วนการปรับลดวงเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 1.5% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เหลือเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จาก 5% เหลือ 3.5% ซึ่งจะทำให้แต่ละเดือนลูกจ้างและนายจ้างจะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ สูงสุดไม่ถึง 750 บาท ทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียไป 19,000 ล้านบาท ขณะที่ภาครัฐยังจ่ายสมทบเท่าเดิม

"เงินที่หายไป 19,000 ล้านบาท หากจะหายไปก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะหากปล่อยให้คนตกงาน หากเทียบผู้ประกันตน 9.3 ล้านคนถ้าตกงาน 1 ล้านคน สปส.ต้องจ่ายเงินชดเชยให้คนตกงานครึ่งนึงของเงินเดือน ไม่เกิน 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ถ้าคิด 1 ปี สปส.ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ถึง 40,000 ล้านบาท" นายไพฑูรย์ กล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 ม.ค.นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี จะเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรการช่วยเหลือแรงงานตกงานในปี 52 ตามโครงการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ จำนวน 5 แสนคน ครอบคลุมทั้งแรงงานเก่าและแรงงานใหม่ภายใต้ชื่อโครงการส่งแรงงานกลับบ้าน โดยจะใช้เงินงบประมาณปี 52 จำนวน 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลจะจ้างแรงงานที่ตกงานเป็นเวลา 1 เดือนเพื่อนำมาฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพตามที่แรงงานต้องการหรือมีความถนัด จากนั้น ก็จะให้แรงงานเลือกว่าตนเองต้องการทำอะไรในภูมิลำเนาของตนเอง จะประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ที่มีโครงการ ธ.ก.ส.สานฝันแรงงาน อยู่แล้ว เพื่อปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษให้กับแรงงาน

"การฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในเดือนเมษายนนี้ทันที หลังจากมีการประชุมคณะกรรมการในเร็วๆ นี้ เพื่อระดมความคิดเห็นจากส่วนราชการประกอบการวิเคราะห์ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะขับเคลื่อนได้ราวเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้" แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า ขณะที่โครงการกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน ซึ่งจะใช้งบประมาณปี 52 อีกจำนวน 6 พันล้านบาท หรือโครงการเอสเอ็มแอลเดิม ซึ่งมีหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ยังไม่ได้รับงบประมาณอีกกว่า 7 พันหมู่บ้าน โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะได้รับเท่าเดิม ขณะนี้อยู่ในช่วงการปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้งบประมาณยกระดับและนำไปสู่การกระจายงานและปรับปรุง ดังนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการในกองทุนเอสเอ็มแอลเดิม

นอกจากนี้ ครม.จะพิจารณแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น แผนกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ แผนแก้ปัญหาการว่างงาน แผนแก้ไขปัญหาภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ทั้งภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ