พันธมิตรฯ ลั่นขวางกฎหมายนิรโทษกรรม เล็งเรียกประชุมแกนนำฯหากเสนอเข้าสภา

ข่าวการเมือง Friday February 13, 2009 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาคัดค้านการผลักดันออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเชื่อว่าไม่ใช่แนวทางสมานฉันท์อย่างที่มีการกล่าวอ้าง แต่กลับจะทำให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคม หากมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร กลุ่มพันธมิตรฯ คงต้องประชุมกันเป็นกรณีพิเศษเพื่อกำหนดท่าทีอย่างเป็นทางการ

นายสุริยใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า แม้แนวคิดดังกล่าวจะพยายามเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มพันธมิตรด้วย แต่จุดยืนของกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมและพร้อมเข้าสู่การไต่สวนของศาลทุกระดับอย่างเปิดเผย โดยไม่เคยคิดหนีหมายเรียก หมายจับ หรือต่อต้านคำพิพากษา แต่ยินดีจะพิสูจน์ตัวเองผ่านกระบวนการทุกช่องทางของกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เครือข่ายระบอบทักษิณหยุดเคลื่อนไหวทุกรูปแบบเพราะไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาประเทศ

"ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองแห่งชาติโดยการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่พรรคเพื่อไทยกำลังเตรียมดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพราะแนวคิดดังกล่าวฟังดูแล้วดูเหมือนดีดู เหมือนพรรคเพื่อไทยสนับสนุนแนวทางการสมานฉันท์ แต่ข้อเท็จจริงนี่เป็นเพียงแผน ลับ ลวง พราง เพื่อจะฟอกผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคนในเครือข่ายระบอบทักษิณหรือพรรคไทยรักไทยเดิมเท่านั้น" นายสุริยะใส กล่าว

ผู้ประสานกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะต้องแสดงจุดยืนที่เป็นเอกภาพ เพราะมีความเป็นไปได้ที่บรรดา ส.ส.ซึ่งเคยสนับสนุนระบอบทักษิณแล้วย้ายมาสังกัดซีกรัฐบาลอาจจะโหวตสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวเพราะจะเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม ส่งผลกระทบต่อระบบนิติรัฐของประเทศ เนื่องจากการนิรโทษกรรมทางการเมืองเป็นเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองที่ได้รับผลกระทบหลังจากเกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549

นายสุรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันเพื่อสร้างความเป็นนิติรัฐ แต่ขณะนี้กลับมีการใช้กฎหมายเพื่อสร้างความไม่เป็นธรรมเสียเอง เพราะหากเป็นเช่นนี้จะมีปัญหาตามมา กลุ่มคนที่ต้องคำพิพากษาหลังจากเหตุการณ์ 19 ก.ย.ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องในทางการเมืองจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็เชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะออกมาเรียกร้องกันเต็มไปหมดแบบนี้ แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร

"ผลของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้คิดว่าจะส่งต่อการพิจารณาคดีในชั้นศาลด้วยโดยอาจจะต้องมีการจำหน่ายคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาไต่สวนของศาลออกระบบ รวมไปถึงคำพิพากษาของศาลหลังจากเหตุการณ์ 19 กันยาฯ ก็อาจไม่มีผลบังคับใช้ด้วยและส่งผลต่อคำอายัดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย" นายสุรชัย กล่าว

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า ถ้ามีการดำเนินการเช่นนี้เท่ากับว่าไม่ให้ความสำคัญต่อสถาบันศาล เพราะการตรากฎหมายลักษณะนี้ถือว่าเป็นการเอื้ออำนวยให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณโดยตรง ซึ่งอาจจะสร้างความแตกแยกตามมาได้ จึงอยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการทบทวนแนวคิดดังกล่าวด้วย

"ในเมื่อกลุ่มบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีจากคดียุบพรรคไทยรักไทย เหลือเวลาอีกไม่กี่ปีก็จะกลับมามีสิทธิในทางการเมืองแล้ว ดังนั้นทางที่ดีควรน่าจะรอให้ถึงเวลานั้นจะดีกว่า" น.ส.รสนา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ