ผ่านมาแล้วเดือนเศษๆที่สหรัฐอเมริกาได้ผู้นำประเทศคนใหม่... บารัค โอบามา ในวันนี้ไม่ใช่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอีกต่อไป แต่เขาได้ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวอย่างเต็มภาคภูมินับตั้งแต่ที่ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมกับที่ช่วงเวลาแสนหวานราวดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ก็เลือนลางจางหายไปพร้อมกัน เมื่อประธานาธิบดีผิวสีผู้นี้ต้องเดินหน้าลุยงานแก้ปัญหานานับประการที่รออยู่ทันที ให้สมกับที่พี่น้องเพื่อนร่วมชาติ หรือแม้แต่ชนชาติอื่นฝากความหวังเอาไว้กับเขา
โดยตลอดระยะเวลากว่าห้าสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะทำงานชุดใหม่ของสหรัฐภายใต้การนำของนายโอบามา สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง นโยบายในประเทศ หรือต่างประเทศ
ไฮไลท์สำคัญ
ความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นการผลักดันให้สภาคองเกรส อันประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ยินยอมพร้อมใจผ่านร่างกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 7.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 27.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งนับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของประธานาธิบดีโอบามา หลังจากที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวมีปัญหาติดขัดในชั้นแรก เมื่อสภาผู้แทนฯและวุฒิสภามีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับวงเงิน จนนำไปสู่การอภิปรายยืดเยื้อมาราธอนเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งทั้งสองสภาก็สามารถประนีประนอมกันได้ในที่สุดและได้ส่งให้ประธานาธิบดีลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันอังคารที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา
ขณะที่การต่อต้านการก่อการร้ายก็เป็นประเด็นที่ประธานาธิบดีวัย 47 ปีผู้นี้ให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ ดังเห็นได้จากการที่โอบามาเดินหน้าเปิดฉากรื้อถอนนโยบายเดิมของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในทันทีที่เขาขึ้นทำหน้าที่ Commander in Chief (ผู้บัญชาการสูงสุด) อย่างเต็มตัวเพียงสองวัน ด้วยการลงนามในคำสั่งปิดเรือนจำฐานทัพเรือสหรัฐที่อ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา ภายในปีนี้ โทษฐานที่สถานคุมขังสุดอื้อฉาวดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของการทารุณกรรม กักขังผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายจำนวนมากโดยปราศจากการตั้งข้อกล่าวหา และไต่สวนสอบปากคำผู้ต้องสงสัยด้วยวิธีการป่าเถื่อนเพื่อบีบบังคับให้รับสารภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงและลบภาพลักษณ์ “ตำรวจโลก" ผู้ทรงคุณธรรมของสหรัฐไปเสียสิ้น
ดูเหมือนว่าความพยายามของโอบามาในการกอบกู้เครดิตของสหรัฐให้ฟื้นกลับคืนมาเป็นบวกในสายตาต่างชาตินั้น จะได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็น สหประชาชาติ สหภาพยุโรป องค์กรสิทธิมนุษยชน และเหล่าผู้นำโลกมุสลิม ซึ่งระบุว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับโอบามาที่จะลบภาพเลวร้ายมัวหมองที่เคยเกิดขึ้นสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช
แต่แค่นั้นยังไม่พอ โอบามายังวางหมากตัวต่อไป ด้วยการเปิดไฟเขียวให้กองทัพสหรัฐเพิ่มกำลังทหาร 17,000 นายในอัฟกานิสถานซึ่งปัจจุบันมีทหารอเมริกันประจำการอยู่ประมาณ 34,000 นาย สวนทางกับการลดขนาดกองกำลังทหารในอิรัก เนื่องจากเล็งเห็นว่า สหรัฐยังมีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะในการทำสงครามปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ตรงกันข้ามกับความหวังอันน้อยนิดที่จะเป็นผู้ชนะในสงครามอิรัก ซึ่งการตัดสินใจด้านกลาโหมครั้งสำคัญนี้ก็ได้รับความเห็นดีเห็นงามจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ โดยยูเอสเอ ทูเดย์-กัลลัพ โพลล์ ซึ่งได้โทรศัพท์สอบถามความคิดเห็นผู้ใหญ่จำนวน 1,013 คนในระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ. แสดงให้เห็นว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่ร่วมตอบแบบสำรวจสนับสนุนการเพิ่มกำลังทหาร แม้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าแผนการดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่
ขยายขอบข่ายพันธมิตร - ประสานรอยร้าวโลกมุสลิม
สำหรับความเคลื่อนไหวของคณะทำงานปธน.โอบามาที่น่าตื่นเต้นเป็นพิเศษสำหรับชาวเอเชียอย่างเรา ก็คือการที่นางฮิลลารี คลินตัน เดินสายเยือนเอเชียเป็นภูมิภาคแรกในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตที่รมว.ต่างประเทศสหรัฐมักจะเลือกเดินทางเยือนประเทศในแถบยุโรปหรือตะวันออกกลางเป็นจุดหมายแรกภายหลังเข้ารับตำแหน่ง รวมไปถึงการที่นายกรัฐมนตรี ทาโร่ อาโสะ ของญี่ปุ่น เป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าพบและหารือกับประธานาธิบดีโอบามาที่ทำเนียบขาว
การเลือก ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และจีนเป็นทริปแรก อีกทั้งการเชื้อเชิญผู้นำจากแดนอาทิตย์อุทัยเยือนทำเนียบขาวเป็นคนแรก สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการขยายขอบเขตการเป็นพันธมิตรของรัฐบาลโอบามากับชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่เอเชีย ด้วยการใช้ยุทธวิธีเจรจาอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเกี่ยวกับวิกฤตต่างๆ ที่สหรัฐกำลังเผชิญ และเอ่ยปากขอให้ประเทศพันธมิตรทั่วโลกช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ อาทิ การเรียกร้องทางการจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ถือครองพันธบัตรสหรัฐรายใหญ่สุดให้ซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐต่อไป เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐขับเคลื่อนได้ และเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากจีนซึ่งก็เป็นผลดีกับจีนเอง ดังเช่นที่คลินตันได้กล่าวว่า “we are truly going to rise or fall together."
เช่นเดียวกับการสร้างความร่วมมือกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรมว.ต่างประเทศสหรัฐได้กล่าวในโอกาสแวะเยี่ยมเยียนสำนักเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาว่า ภูมิภาคนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของโลก โดยจะเป็นกุญแจสำคัญที่อาจช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงให้ประชาคมโลกได้ เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการซื้อขายที่สำคัญและหลายประเทศทั่วโลกต่างต้องพึ่งพาภูมิภาคนี้ แต่ดูท่าการโปรยยาหอมตามแบบแผนทางการทูตครั้งนี้ อาจจะช่วยสหรัฐได้ไม่มากนัก เพราะหลายประเทศในแถบนี้ก็กำลังซวนเซ จวนเจียนจะล้มมิล้มแหล่ตามสหรัฐไปในอีกไม่ช้าไม่นาน
วัตถุประสงค์ในการส่งคลินตันมาเอเชียยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะโอบามายังหวังใช้อินโดนีเซียเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์กับโลกมุสลิมด้วย เหตุที่อินโดฯเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก ซึ่งบทความที่ตีพิมพ์ลงในนสพ.จาการ์ตา โพสต์ ระบุว่า การส่งเสริมความสัมพันธ์กับอินโดนีเซีย จะช่วยให้สหรัฐได้รับความไว้วางใจจากโลกมุสลิมกลับคืนมาอีกครั้ง และจะเป็นการพัฒนากรอบการทำงานในการต่อต้านการก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ หลังจากที่ความสัมพันธ์ของสหรัฐกับชาติมุสลิมทั่วโลกเสื่อมถอยในช่วงที่ปธน.บุชนั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐ
กำลังใจยังเต็มเปี่ยม
ล่าสุด ในการแถลงนโยบายครั้งแรกต่อที่ประชุมร่วมสองสภาเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาได้ปลุกปลอบขวัญและกำลังใจให้กับชาวอเมริกันด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่า สหรัฐจะสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายได้อย่างแน่นอน มิหนำซ้ำยังจะขยายตัวแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวได้รับปฏิกิริยาชื่นชมจากสื่อมวลชนสหรัฐ อาทิ นิวยอร์ก ไทมส์ และ วอชิงตันโพสต์ ที่ระบุว่าโอบามาแสดงออกถึงความเป็นผู้นำในการสร้างความหวังให้กับประชาชน หลังจากที่แทบจะไม่ค่อยได้เห็นผู้นำสหรัฐแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศในมุมมองที่เป็นบวกเท่าใดนัก นับตั้งแต่ที่เขาเข้าทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดที่บรรดาสื่อสำนักต่างๆของสหรัฐได้จัดทำขึ้นในโอกาสที่โอบามาทำหน้าที่ประธานาธิบดีมาครบ 1 เดือนนั้น ปรากฏว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในบทบาทความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีหนุ่มไฟแรงผู้นี้
โดยโพลล์ที่จัดทำโดยนิวยอร์ก ไทม์ส/ซีบีเอส นิวส์ระบุว่า ปธน.โอบามา ยังมีคะแนนนิยมสูงถึง 63% และกว่า 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีทัศนะในแง่บวกต่อช่วงเวลา 4 ปีข้างหน้าที่มีโอบามาเป็นประธานาธิบดี และเชื่อว่าเขาจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สหรัฐได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังมั่นใจว่าเขามีความสามารถในการตัดสินใจนโยบายเศรษฐกิจได้ถูกต้อง ด้านผลการสำรวจของวอชิงตัน โพสต์-เอบีซี นิวส์ พบว่า ชาวอเมริกัน 68% เห็นชอบต่อการทำหน้าที่ของปธน.โอบามา
ช่างน่าปลื้มใจดีแท้ที่พี่น้องเพื่อนร่วมชาติยังคงให้การสนับสนุนผู้นำของพวกเขามากถึงเพียงนี้ ซึ่งสิ่งนี้ก็น่าจะเป็นแรงผลักดันให้โอบามานำพาประเทศข้ามฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ และพลิกฟื้นอเมริกาให้แข็งแกร่งกว่าเดิมได้ตามที่มุ่งหวัง ขณะเดียวกันก็นับว่ายังเป็นโชคดีของชาวอเมริกันที่แม้จะต้องเผชิญคลื่นสึนามิทางเศรษฐกิจถาโถมเข้าใส่ แต่พวกเขาก็ยังมีผู้นำที่เข้มแข็งผู้พร้อมจะนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่สดใส